การเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ในความทรงจำของคนส่วนใหญ่ คือ การเดินชมสิ่งของที่นำมาจัดแสดงไปพร้อมกับการหยุดอ่านป้ายข้อมูลพื้นฐานประกอบ หากต้องการทราบข้อมูลสิ่งของที่จัดแสดงในด้านคุณค่าทางศิลปะที่ลึกซึ้งหรือตำนานสนุกๆ เกี่ยวกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ คงต้องอาศัยการหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมต่างหาก หรือขอฟังการบรรยายจากเจ้าหน้าที่นำชมของทางพิพิธภัณฑ์
แต่นับจากการพัฒนาก้าวหน้าที่ไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีนิวมีเดีย การติดต่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกันผ่านเวยโป๋(ไมโครบล๊อก) และเวยซิ่น(วีแชต) ได้กลายเป็นสิ่งที่แทบจะขาดเสียไม่ได้ในการใช้ชิวิตประจำวันของชาวจีน ทำให้องค์กรบริษัทหรือหน่วยงานให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างพิพิธภัณฑ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่กิจการการงานของตนผ่านช่องทางรูปแบบใหม่นี้ด้วย
(ซ้าย) ซีน่าเวยโป๋ http://weibo.com/chnmuseum ของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจีน
(ขวา) รหัสคิวอาร์ที่จะพาเชื่อมต่อไปยัง WeChat ID: ichnmuseum
เพื่อเข้าสู่การใช้งานไกด์นำชมส่วนตัวบนมือถือ
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในจีนก็ยังได้ทยอยกันนำ รหัสคิวอาร์ (QR Code : Quick Response) มาประยุกต์ใช้กับการให้ข้อมูลนำชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย โดยรหัสคิวอาร์ที่เป็นบาร์โค้ดแบบสองมิตินี้ สามารถเก็บข้อมูลภาพ เสียง และอักษรได้อย่างมากมาย ถูกพัฒนามาจากบาร์โค้ดที่สามารถจุข้อมูลได้มากกว่าเดิมหลายสิบเท่า ซึ่งบริษัทเดนโซของญี่ปุ่นเป็นผู้คิดค้นพัฒนาขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ปี 1994
จากเดิมที่จะใช้รหัสคิวอาร์กันในกลุ่มองค์กรบริษัทเสียมาก แต่เมื่อการใช้งานโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์พกพาอย่างแท็บเล็ตเป็นที่แพร่หลาย การใช้ประโยชน์จากรหัสคิวอาร์จึงแพร่หลายสู่มวลชนมากขึ้นตาม ขอเพียงสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตของผู้ใช้งานมีการติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ใช้ถอดรหัส เมื่อยกกล้องขึ้นสแกนรหัสเสร็จเรียบร้อย ก็เป็นอันสามารถนำพิพิธภัณฑ์ติดกลับบ้านไปด้วยได้อย่างง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส
รหัสคิวอาร์ มีความทันสมัยและสะดวกสบาย
ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลสิ่งของจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้รอบด้านขึ้น
ในอดีตการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์หากจะให้ได้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ การเลือกใช้บริการเจ้าหน้าที่นำชม น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีทำให้ได้รายละเอียดที่ครบครันกว่า ซึ่งหากเป็นบริการฟรีที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดเจ้าหน้าที่ไว้ให้ก็มักจะต้องรอตามรอบตามเวลา และอาจนำมาซึ่งบริการที่ไม่ทั่วถึง เพราะจำนวนคนที่เยอะอาจได้ยินไม่ชัดหรือถูกบดบังไม่เห็นสิ่งของที่บรรยาย และหากจะให้เข้าถึงแบบขอไกด์แนะนำส่วนตัวก็ย่อมต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ปัจจุบันหลังจากพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในจีนได้ทยอยกันประยุกต์ใช้คิวอาร์โค้ดเพื่อให้ข้อมูล ซึ่งจะเปิดบริการวายฟายฟรีระหว่างการเที่ยวชมในพิพิธภัณฑ์ด้วย ทำให้การมีผู้นำชมให้บรรยายแบบตัวต่อตัวเป็นเรื่องที่ไม่สิ้นเปลืองทั้งเงินและเวลา
ที่สำคัญคือสามารถฟังรายละเอียดซ้ำได้ตามต้องการ และนำข้อมูลติดกลับบ้านได้ด้วย ซึ่งสำหรับทางพิพิธภัณฑ์เองก็ย่อมได้ประโยชน์จากการใช้งานคิวอาร์โค้ดด้วยเช่นกัน เพราะทำให้รู้ถึงข้อมูลการมีส่วนร่วมและความชื่นชอบพิเศษของผู้เข้าชม ช่วยในการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ เชื่อว่าจะทำให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสและรับประโยชน์จากการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ที่มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพสูงยิ่งๆ ขึ้นได้ในอนาคต
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府