ระหว่างวันที่ 20 – 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สื่อมวลชนจาก 4 ประเทศคือไทย ลาว เมียนม่าร์และกัมพูชาจำนวน 21 คน ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมและพุทธศาสนา ประจำปี 2013 ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถานีวิทยุซีอาร์ไอ กรุงปักกิ่ง
สื่อมวลชนจาก 4 ประเทศ ได้แก่ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) กรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุแห่งประเทศกัมพูชา สถานีวิทยุมิตรภาพจีน-กัมพูชา หนังสือพิมพ์ประชาชนลาว สถานีวิทยุ FM ที่กรุงเวียงจันทร์แห่งประเทศลาว สถานีวิทยุและโทรทัศน์เมียนม่าร์ และมีสื่อมวลชนจีนบางส่วนร่วมคณะไปด้วย โดยทั้งหมดได้เดินทางไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งในพื้นที่กรุงปักกิ่ง และอำเภอจือซิงของมณฑลหูหนาน เพื่อเรียนรู้เรื่องราวและความรุ่งเรืองของประวัติศาสตร์จีน อีกทั้งยังได้เห็นพัฒนาการและการเติบโต ของพุทธศาสนาในประเทศจีนผ่านสถานที่ในอดีต วัดต่างๆและศาสนสถานที่สำคัญอีกทั้งจะได้พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องในสมาคมพุทธศาสนาจีน
คนสวดมนต์ไหว้พระขอพร
พุทธศาสนาเข้ามามีบทบาทในประเทศจีนเป็นเวลายาวนานนับพันๆ ปีแล้ว โดยได้หลอมรวมกับความเชื่อดั้งเดิมของคนท้องถิ่นและลัทธิเต๋า กับขงจื้อ จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวจีนจำนวนมาก ทำให้พุทธศาสนาในประเทศจีนมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง
ศาสนาพุทธในประเทศจีนเป็นแบบนิกายมหายาน มีคติในเรื่องของความเมตตา กรุณา ความต้องกรช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ มหายาน มีธาตุศัพท์มาจาก "มหา" กับ "ยาน" ซึ่งหมายถึง พาหนะที่ใหญ่ หรือยานขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถบรรจุผู้คนได้มากมาย หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ทางอันประเสริฐ นั่นคือ เส้นทางอันประเสริฐ หรือพาหนะลำใหญ่นี้ สามารถบรรทุก รองรับผู้คน สัตว์ต่างๆ ทุกชนชั้น ไม่เลือกเพศ หรือวัย เพื่อก้าวข้ามไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ได้โดยเสมอหน้ากันโดยไม่มีผู้ใดถูกปฏิเสธเลย พระโพธิสัตว์ ทรงต้องการช่วยเหลือมนุษย์ให้ได้พ้นทุกข์ไปจนหมดก่อนแล้วพระองค์จึงค่อยบรรลุธรรม เป็นคนสุดท้าย
ในขณะที่พุทธศาสนาแบบเถรวาท ซึ่งนับถือในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น ไทย ลาว เมียนม่าร์ กัมพูชา ให้ความสำคัญกับพระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นผู้สืบทอดและเผยแผ่พระศาสนาและปฏิบัติตามพระธรรมธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เน้นการปฏิบัติเฉพาะตน เฉพาะบุคคล ฝึกฝนด้วยความเพียรเพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ทั้งปวง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีรายละเอียดของวิถีปฏิบัติและความเชื่อบางเรื่องของสองนิกายที่แตกต่างกัน แต่สาระสำคัญที่เป็นหัวใจหลักก็มีเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ สุดท้ายแล้วต้องการให้มนุษย์ทุกคนพ้นทุกข์นั่นเอง
คนสวดมนต์ไหว้พระขอพร
สำหรับในปักกิ่ง คณะสื่อมวลชนจาก 4 ประเทศ ได้ไปเรียนรู้จากวัดสำคัญถึง 4 แห่งด้วยกัน ได้แก่ วัดกว่างจี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสมาคมพุทธศาสนาจีน วัดหลิงกวง ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระเขี้ยวแก้ว วัดหลงฉวน ซึ่งโดดเด่นทั้งด้านสถานที่ตั้งซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าหนึ่งพันปี และเจ้าอาวาสได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้สื่ออินเตอร์เนตเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนไปยังชาวพุทธและผู้สนใจทั่วโลก และสุดท้ายคือวัดลามะ ซึ่งมีการตกแต่งสถาปัตยกรรมสไตล์ธิเบตที่เก่าแก่และงดงามอย่างมาก
พระฉาง จ้าง เจ้าอาวาสวัดหลิงกวง เปิดเผยว่า วัดหลิงกวงสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง เป็นวัดเก่าแก่อายุยาวนานกว่า 1,200 ปี มีความสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศจีน เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่าหนึ่งในสององค์สุดท้ายของโลก (อีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่ศรีลังกา) และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธจำนวนมาก
เจดีย์พระเขี้ยวแก้วองค์ปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อค.ศ. 1964 มีความสูง 51 เมตร รูปทรงแปดเหลี่ยม ในเจดีย์พระเขี้ยวแก้วยังมีเจดีย์ทองคำองค์หนึ่งซึ่งบรรจุพระเขี้ยวแก้ว เจดีย์ทองคำองค์นั้นหล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์ มีความสูง 1 เมตร น้ำหนัก 135 กิโลกรัม
ที่ผ่านมา จีนได้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับประเทศต่างๆที่นับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน
และมีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วไปประดิษฐานชั่วคราวในแต่ละประเทศ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชา อาทิเมียนม่าร์ ได้เคยอัญเชิญไปแล้ว ถึง 4 ครั้ง (1955/1994/1996 และ 2011) ศรีลังกา (1961) ฮ่องกง (1999) และประเทศไทยเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา 75 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระเขี้ยวแก้วของวัดหลิงกวางเคยไปประดิษฐานไว้ที่ประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 2002 ถึงวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2003 ด้วย
สำหรับในประเทศจีน ทุกๆปี ระหว่างเดือนพฤษภาคมและเดือนสิงหาคมหรือกันยายน
ทางวัดหลิงกวงจะเปิดให้สาธารณชนเข้าไปสักการะบูชาพระเขี้ยวแก้วได้เป็นเวลา 1 เดือนถึง 40 วัน
ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างจีนกับประเทศต่างๆที่นับถือพุทธศาสนา ยังสะท้อนผ่าน พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานภายในวัดหลิงกวง ซึ่งได้รับมอบจากมิตรประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไทย พม่า ศรีลังกา หรือเวียดนาม
พระพุทธรูปจากประเทศไทย
พระพุทธรูปจากเมียนม่าร์
พระพุทธรูปจากศรีลังกา
พระพุทธรูปจากเวียดนาม
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจาก:
"พุทธศาสนามหายาน" . สุมาลี มหณรงค์ชัย, สำนักพิมพ์ศยาม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2546
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ :
วัดลามะ https://thai.cri.cn/chinaabc/chapter16/chapter160303.htm
วัดกว่างจี้ https://thai.cri.cn/247/2013/07/23/121s211912.htm
วัดหลิงกวงhttps://thai.cri.cn/247/2013/07/22/242s211899.htm
วัดหลงฉวน https://thai.cri.cn/247/2013/07/24/242s211938.htm
เว็ปไซต์ วัดหลงฉวน www.longquanzs.org/eng/
แนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศจีน
1. "พุทธศาสนามหายาน" . สุมาลี มหณรงค์ชัย. สำนักพิมพ์ศยาม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2546
2 "ลั่วหยางสังฆารามรำลึก". หยางเสวี้ยนจือ (ราชวงศ์เป่ย์เว่ย์) แปลโดย ชิว ซูหลุน. ศูนย์ส่งเสริมการวิจัยในภูมิภาคเอเชียฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2554.
3. "Understanding LIFE". Ven.Master Xuecheng. World Affairs Press , Beijing 2011.