การตรวจสอบรอบนี้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดส่งกลุ่มตรวจสอบ 10 กลุ่มไปยังมณฑลเจียงซี หูเป่ย เขตมองโกเลียใน มณฑลกุ้ยโจว นครฉงชิ่ง บริษัทกำกับดูแลธัญพืชสำรองแห่งประเทศจีน (Sinograin) กระทรวงชลประทาน กลุ่มสิ่งพิมพ์แห่งประเทศ ธนาคารการนำเข้า-ส่งออกแห่งประเทศจีน และมหาวิทยาลัยเหรินหมินจีน ซึ่งพบว่า นอกจากกระทรวงชลประทานแล้ว หน่วยงานและพื้นที่อื่นๆ ที่ถูกตรวจสอบ ล้วนมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งสิ้น
ก่อนเริ่มต้นการตรวจสอบรอบนี้ นายหวาง ฉีซาน เลขาธิการคณะกรรมการธิการตรวจสอบวินัยของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้คำสั่งไว้ว่า "จงเป็น 'ตาทิพย์' ให้ดี จงค้นหา 'เสือ' และ 'แมลงวัน' ออกมา"
ส่วนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า การตรวจสอบรอบนี้ไม่เพียงแต่เพื่อลาก "เสือ" ออกมาเท่านั้น หากยังมีความสำคัญมากกว่านี้ คือ เป็นการ "นำร่อง" การปฏิรูประบบการตรวจสอบในขั้นต่อไป
ศาสตราจารย์หลี่ หย่งจง ผู้เชี่ยวชาญด้านการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นระบุว่า การตรวจสอบในเวลานี้มีเพียงระดับรัฐบาลกลางและมณฑลเพียง 2 ระดับเท่านั้น ทำอย่างไรจึงจะครอบคลุมถึงระดับเมืองและอำเภอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอำเภอ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ยังต้องแก้ไขต่อไป
การตรวจสอบในปีนี้มุ่งเป้าหมายไปที่ 4 ประเด็นหลักได้แก่ การใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบ การโกงกินบ้านเมือง การรับสินบน และเสื่อมคุณธรรมหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องการละเมิดกฎหมายและฝ่าฝืนวินัย มีปัญหาการใช้อภิสิทธิ์เกินขอบเขต และใช้งบประมาณฟุ่มเฟือยหรือไม่ ฝ่าฝืนวินัยการเมืองของพรรคฯ รวมทั้งมีปัญหาการทุจริตในการคัดเลือกบุคลากรหรือไม่
ศาสตราจารย์หลิว ฉางหมิ่น จากมหาวิทยาลัยการเมืองและกฎหมายจีนระบุว่า การตรวจสอบนี้เป็นเพียงมาตรการ "เฉพาะกาล" เท่านั้น ยังไม่สามารถแก้ปัญหาทุจริตจากต้นเหตุได้ ดังนั้น จึงควรให้สาธารณชนมีส่วนร่วมมากขึ้นเพื่อผนึกกำลังและสร้างเครือข่ายการป้องกันการทุจริต ถึงจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องที่สุด
(NUNE/LING)