ดังนั้น ในช่วง 2 สัปดาห์ ก่อนถึงวันตรุษจีน มักจะมีข่าวออกมาให้ยินกันทุกปีว่า ตามสถานีรถไฟ หรือท่าขนส่งมวลชนรูปแบบต่างๆ ล้วนคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ที่ต้องการเดินทางกลับบ้านเกิดฉลองตรุษจีนจนถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับสามีภรรยาชาวจีนที่ต่างเป็นลูกคนเดียวทั้งคู่ และแถมยังแต่งงานไปใช้ชีวิตคู่ด้วยกันในต่างเมืองอีก เมื่อถึงช่วงวันสำคัญต้องพร้อมหน้าพร้อมตากันอย่างนี้ คำถามที่ว่า กลับบ้านไหนดี? จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ และอาจถึงขั้นชวนทะเลาะจนอาจบ้านแตกเตียงหักกันได้
ตรุษจีนปีนี้จะไปทานข้าวบ้านพ่อแม่ฝ่ายไหนดี?
โดยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปักกิ่งนิวส์ได้ทำสำรวจสุ่มตัวอย่าง คู่สามีภรรยาต่างถิ่นที่ทำงานในปักกิ่ง จำนวน 100 คู่ ที่มีอายุระหว่าง 27-52 ปี พบว่ามี 28 คู่เคยทะเลาะกันเพราะเรื่องกลับเยี่ยมบ้านช่วงตรุษจีน มี 19 คู่หาทางออกด้วยการ รับผู้ใหญ่ทั้งสองบ้านมาฉลองตรุษจีนที่กรุงปักกิ่งแทน และมีอีกไม่น้อยเลือกวิ่งล่องทั้งสองบ้านไม่ให้น้อยหน้ากัน โดยช่วงวันส่งท้ายปีถึงวันขึ้นสามค่ำจะไปบ้านพ่อแม่ฝ่ายสามีก่อนตามขนมประเพณีแต่เดิม พอวันขึ้นสี่ค่ำก็ค่อยเดินทางไปเยี่ยมบ้านพ่อแม่ฝ่ายภรรยาต่อ
และจากข้อมูลผลทำสำรวจคู่สามีภรรยาใน 6 เมืองใหญ่ของจีน ได้แก่ ปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ อู่ฮั่น เฉิงตู และกว่างโจว เมื่อเร็วนี้ๆ โดยบริษัทวิจัย Horizonkey ชื่อดังของจีน ก็ได้ระบุว่า คู่สามีภรรยาในเทียนจินมีการทะเลาะกันเรื่องกลับเยี่ยมบ้านช่วงตรุษจีนสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 33.3 ที่ต่ำสุดคือเมืองกว่างโจว เป็นร้อยละ 22.2 ที่เหลืออีก 4 เมืองมีสัดส่วนอยู่ระหว่างร้อยละ 27-29
นอกจากนี้ช่วงตรุษจีนยังถือเสมือนเป็นบททดสอบคู่สามีภรรยาหนุ่มสาวจีน ที่อาจเพิ่งแต่งงานใหม่ หรือยังปรับตัวกับชีวิตคู่ได้ไม่ดีพอ ยังใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งมากกว่า ทำให้เรื่องไม่ลงรอยเล็กๆ อาจบานปลายไปกันใหญ่ได้ เพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นเรื่องฟ้องร้องแสดงไว้ด้วยว่า ในช่วงครึ่งเดือนก่อนและหลังตรุษจีน จะมีคดีครอบครัวเพิ่มจำนวนขึ้นกว่าช่วงอื่นๆ เกือบสองเท่าตัว ในจำนวนนี้เป็นการฟ้องหย่าประมาณร้อยละ 70 ซึ่งต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งมาจากเรื่อง "กลับไปฉลองตรุษจีนที่บ้านไหน" นั่นเอง
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府