ตามประวัติศาสตร์ เส้นทางสายไหมทางทะเลเป็นช่องทางการค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ผ่านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทะเลจีนใต้ ช่องแคบมะละกาเข้าสู่มหาสมุทรอินเดียและเชื่อมต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง ทวีปแอฟริกาและยุโรป
เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไปเยือนอินโดนีเซีย และมีข้อเสนอให้จีนกับอาเซียนเสริมความร่วมมือ ผลักดันความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางทะเล ร่วมกันสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการขยายผลประโยชน์ระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและด้านอื่นๆ ด้วย
นายสมดี บุนคุ้ม เอกอัครราชทูตลาวประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า แนวคิดของการพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 มีความหมายสำคัญสำหรับการเสริมสร้างมิตรสัมพันธ์ การไปมาหาสู่ ความร่วมมือและการค้าระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ของอาเซียน ซึ่งแนวคิดใหม่นี้เน้นย้ำการสร้างสรรค์ร่วมกัน
ด้านนายจาง วิ่นหลิ่ง กรรมการสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สภาสังคมศาสตร์จีนกล่าวว่า การพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลจะมีส่วนพัฒนาการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เช่นการเชื่อมต่อท่าเรือสำคัญของแต่ละประเทศให้พัฒนากลายเป็นเครือข่ายท่าเรือที่ทันสมัย และมีการทำข้อตกลงเพื่อเปิดบริการท่าเรือเหล่านี้ต่อกัน จึงต้องการความร่วมมือของหลายประเทศในภูมิภาค
(Nune/Lin)