河南文化年
|
กรุงเทพฯ – 2 กรกฎาคม 2557 เวลา 19.00 น. กระทรวงวัฒนธรรมจีน กรมวัฒนธรรมมณฑลเหอหนานประเทศจีน และศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพฯ ร่วมกันจัดงานปีวัฒนธรรมเหอหนาน 2014 ขึ้น ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพฯ โดยทำพิธีเปิดพร้อมนำการแสดงสุดอลังการบินตรงมาจากเหอหนานเพื่อให้ชาวไทยได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด
นายกร ทัพพะรังสี - นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีนและอดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าวในพิธีเปิดว่า มณฑลเหอหนานเป็นมณฑลในประเทศจีนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี สมาคมมิตรภาพไทยจีนก็เคยจัดพาคณะไปเยือนที่มณฑลนี้ เมื่อพูดถึงเหอหนานแล้ว มีสถานที่สำคัญสามแห่งที่จะต้องนึกถึง ได้แก่ วัดม้าขาว (白马寺) ต้นกำเนิดพุทธศาสนาในจีน, วัดเส้าหลิน (少林寺) ตำนานแห่งการต่อสู้ และบ้านเกิดของเล่าจื้อ (老子) ปราชญ์คนดัง (ผู้แต่งคัมภีร์เต้าเต๋อจิง)
นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร – ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงมณฑลเหอหนานในฐานะเป็นศูนย์กลางทางด้านภูมิศาสตร์ของจีน มีบทบาทในประวัติศาสตร์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ไทยและจีนได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมกันหลายครั้ง สุดท้ายขอขอบคุณไปยังคณะนักแสดงและผู้จัดงานทุกท่าน
นายเฉินเจียง – ที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยกล่าวต้อนรับทุกท่านในฐานะตัวแทนสถานทูตจีน ประเทศจีนมีเมืองโบราณอยู่ทั้งหมด 8 แห่ง โดย 4 แห่งอยู่ที่มณฑลเหอหนาน นอกจากนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของอุปรากรหรืองิ้วเหอหนาน "ยู่จวู้" (豫剧) ที่นับเป็นหนึ่งในสุดยอดงิ้วทั้ง 5 ของจีน
นางหยางลี่ผิง – อธิบดีกรมวัฒนธรรมมณฑลเหอหนาน เปิดเผยว่า ครั้งนี้มีคณะนักแสดงทั้งหมด 36 คนเป็นตัวแทนเดินทางมาจากเหอหนาน เหอหนานเป็นศูนย์กลางในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม, เศรษฐกิจ, คมนาคม เป็นแหล่งกำเนิดสิ่งประดิษฐ์เก่าแก่ของโลก เมื่อปี ค.ศ. 2000 สมเด็จพระนามเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีก็ได้เสด็จเยือนมณฑลเหอหนาน หวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนในทั้งสองประเทศเคารพและเข้าใจในความแตกต่างของวัฒนธรรมได้ดียิ่งขึ้น
การเขียนพู่กันและทำตราประทับเป็นกิจกรรมที่จัดควบคู่ไปกับนิทรรศการตัวอักษรจีน (文字) ผู้เข้าชมจะสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของตัวอักษรจีน - ภาษาภาพเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังคงหลงเหลือและใช้อย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน หลักฐานชิ้นสำคัญมากมายของเจี่ยกู่เหวินหรืออักษรจีนโบราณที่บันทึกไว้บนกระดูกสัตว์ถูกค้นพบที่มณฑลเหอหนาน แม้จะมีพัฒนาการของรูปแบบตัวอักษรในแต่ละยุคที่อาจจะแตกต่างกัน แต่จุดเด่นของอักษรจีนคือการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีการพัฒนาอักษรแบบใหม่เข้ามาใช้ แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งแบบเดิมไปเสียหมด ผู้คนในยุคต่อมายังคงศึกษาและใช้อักษรในยุคเก่าและปัจจุบัน การเข้าใจในต้นกำเนิดของอักษรจีนทำให้เราจะเข้าถึงศิลปะในการเขียนอักษรรวมทั้งเข้าใจความหมายได้ดียิ่งขึ้น
อาจารย์ตู้ – ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์อักษรจีนให้สัมภาษณ์ว่า ตราประทับอักษรจีนที่นำมาแสดงในวันนี้ เป็นตัวอักษรเกี่ยวกับปี 12 นักษัตร ซึ่งมีความผูกพันกับชีวิตของชาวจีนมายาวนานตั้งแต่อดีต ชาวจีนจะนิยมนำกระดาษรูปอักษรนักษัตรเหล่านี้ไปใส่กรอบและติดที่ฝาผนังตามบ้าน เพื่อศิริมงคลและความสวยงาม ซึ่งระหว่างการโชว์วิธีทำตราประทับก็มีผู้สนใจเข้าไปสอบถามและต่อแถวเพื่อขอผลงานกลับไปประดับบ้านกันอย่างเนืองแน่น เป็นการยืนยันว่าไม่ใช่แต่เฉพาะชาวจีนที่ชื่นชอบ ชาวไทยก็ชื่นชอบในการนำตัวอักษรจีนที่เป็นปีเกิดของตนไปประดับเพื่อความโชคดีเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีการแสดงเครื่องดนตรีพันปีย้อนยุค ตามหาตำนานดั้งเดิมของเสียงดนตรีจีน เป็นการนำเครื่องดนตรีโบราณต่างๆที่ขุดพบในมณฑลเหอหนานมาทำให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นขลุ่ยกระดูก, ขลุ่ยดินเผา, ระฆังชุด หรือ กู่ฉิน ซึ่งบรรเลงโดยวงดนตรีโบราณหัวเซี่ย ( 华夏) นอกจากนี้เสื้อผ้าของผู้แสดงยังเป็นชุดที่จำลองมาจากชุดโบราณที่ขุดค้นได้จริงและเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งมณฑลเหอหนาน
"การแสดงในวันนี้ไม่ได้มีแค่ดนตรี แต่ยังครบเครื่องด้วยการเต้นรำและเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายต่างๆ จุดมุ่งหมายของคณะนักแสดงคือจะพาผู้ชมย้อนอดีตไปยังหลายพันปีที่แล้ว เพื่อสัมผัสความไพเราะจากเครื่องดนตรีสมัยก่อน ท่วงทำนองเพลงแบบโบราณ ตลอดจนเสื้อผ้าอาภรณ์ ทำให้เราได้รับรู้และเข้าใจว่าคนจีนสมัยพันปีก่อนเค้ามีวิถีชีวิตและชื่นชมความงดงามแบบใด หวังว่ามิตรชาวไทยจะถูกใจกับการแสดงในครั้งนี้" อาจารย์หลี่หง หัวหน้าคณะนักแสดงฯและรองอธิบดีพิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน
ด้านนางสาวหลาน ซู่หง ผู้อำนวยศูนย์วัฒนธรรมจีนฯกล่าวถึงงานในครั้งนี้ว่าดีใจมากที่ผู้ชมให้ความสนใจมาร่วมงานอย่างล้นหลาม เพราะเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ศูนย์วัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและยังแสดงให้เห็นว่าคนไทยให้ความสนใจในวัฒนธรรมจีนมากขึ้นซึ่งตรงกับจุดประสงค์ของการก่อตั้งศูนย์ฯ คือการที่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมของจีนได้ง่ายขึ้น การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศด้วยวัฒนธรรมมีความพิเศษอยู่ที่ว่าศิลปะเหล่านี้ก้าวข้ามกำแพงของภาษา ทุกคนสามารถรู้สึกและสัมผัสได้ถึงความงดงามและความหมายต่างๆโดยที่ไม่จำเป็นต้องพูดภาษาเดียวกัน
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿