วิทยายุทธหรือกังฟู ภาษาจีนกลางเรียกว่า "อู่สู้" เป็นการเผื่อไว้เพื่อนๆ ชาวไทยที่จะมาท่องเที่ยวในจีน เมื่อได้ยินชาวจีนเอ่ยถึงคำว่า"อู่สู้" จะได้เข้าใจทันทีว่า เขาหมายถึงวิทยายุทธหรือกังฟูครับ
ลุถึงราชวงศ์ซ่ง ภายในราชสำนักมีขุนนางที่ไม่จงรักภักดีต่อจักรพรรดิ ประกอบกับชนเผ่าเลี้ยงสัตว์ซึ่งอยู่ทางภาคเหนืออาศัยกำลังป่าเถื่อนไปบุกรุกพรมแดนของชนชาติฮั่นอยู่เนืองนิจ ชาวบ้านทั่วไปพากันจัดตั้งองค์การฝึกกังฟูขนาดใหญ่ตามระดับอำเภอและเมือง เพื่อป้องกันตนเอง ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านการฝึกมวย การกำหนดยุทธศาสตร์และการยิงธนู เป็นต้น ทักษะวิทยายุทธในชนบทและเขตชายแดนสมัยนั้นเน้นประโยชน์ภาคปฏิบัติการโจมตีข้าศึกเป็นพิเศษ ส่วนในเมืองก็พัฒนาชื่อเสียงด้านฝีมือการแสดง จากทั้งมวยปล้ำ ฝีมือไม้ตะบอง ฟันดาบสู่ยิงธนู การพัฒนาของวิทยายุทธในราชวงศ์จะสะท้อนให้เห็นจากเค้าโครงทีมีชีวิตชีวาของนวนิยายที่มีชื่อเสียงในสมัยโบราณของจีนบางเรื่อง เช่น"ขุนพลตระกูลหยาง"และ"ซ้องกั๋ง" คิดว่า คุณผู้ฟังที่เคยอ่านนวนิยายดังกล่าวฉบับไทยย่อมยังประทับใจกับวีรชนที่มีฝีมือกังฟูสุดยอด
ยุคสมัยต่อไปคือราชวงศ์หยวนซึ่งสถาปนาขึ้นโดยหลานชายของเจิงกิสข่าน ประมุขยิ่งใหญ่ของชนเผ่ามองโกลอันองอาจกล้าหาญ ในสมัยนั้น โดยที่ผู้ปกครองจีนเป็นชนเผ่ามองโกลแทนชนชาติฮั่น แต่ชาวมองโกลปกครองจีนอย่างเผด็จการ ความขัดแย้งระหว่างชน 2 เผ่าจึงรุนแรงมาก ชนชั้นปกครองชาวมองโกลมีนโยบายกำจัดการฝึกกังฟูในหมู่ประชาชน องค์การอู่สู้เอกชนจึงกลายเป็นองค์การลับเพื่อหลบหลีกมาตรการปราบปรามจากราชสำนักมองโกล นับได้ว่า ความก้าวหน้าของอู่สู้ประสบอุปสรรคอันหนักหน่วงในราชวงศ์หยวน
ถึงราชวงศ์หมิง ชนชาติฮั่นได้โค่นล้มการปกครองของมองโกลอย่างสิ้นเชิง ราชวงศ์หมิงเป็นยุคทองแห่งการพัฒนาวิทยายุทธในทั่วทุกด้าน สำนักมวยที่มีรูปแบบและทฤษฎีแตกต่างกันปรากฏขึ้นเสมือนหน่อไม้หลังฝนในยามฤดูใบไม้ผลิ บนดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลของจีนเกิดสถานการณ์แข่งขันกันพัฒนาและสร้างชื่อเสียงของหมู่คนที่เชี่ยวชาญวิทยายุทธ สมัยนั้น มวยที่เป็นทักษะยอดเยี่ยมมักจะตั้งชื่อตามปฐมอาจารย์ผู้อตั้งหรือนักมวยที่เรืองนาม นักวิชาการเชื่อกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้อู่สู้ได้พัฒนาอย่างใหญ่หลวงในยุคสมัยนี้คือ จูหยวนจัง ปฐมจักรพรรดิผู้ก่อตั้งราชวงศ์หมิงให้ความสำคัญต่อบุคลากรฝ่ายบุ๋นและบุคลากรฝ่ายบู๊เท่าเทียมกัน พระองค์ยืนหยัดแนวคิดว่า"ขุนศึกเรียนมารยาท ขุนนางเรียนขี่ม้ายิงธนู" ดังนั้น ยุคสมัยนี้ไม่เพียงแต่จะมีสำนักมวยมากมาย หากยังมีชุดวิธีการอู่สู้ที่เน้นใช้อาวุธที่แตกต่างกันหลากหลายด้วย ตลอดจนเริ่มมีคู่มือรายการวิทยายุทธอีกมากมาย ในอดีตการสืบทอดอู่สู้ ซึ่งวิวัฒนาการจากฝีมือการต่อสู้ทางการทหาร ส่วนใหญ่ต้องอาศัยการถ่ายทอดจากรุ่นต่อรุ่น วิชามวยที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรจึงมีน้อยมาก แต่เนื่องจากราชสำนักหมิงยกย่องวิทยายุทธอย่างสูง นักวิทยายุทธจึงพากันเขียนบทความและรวบรวมเป็นหนังสือหรือคู่มือฝึกฝน และวาดภาพท่าทางกังฟูประกอบในคู่มือด้วย บทนิพนธ์ด้านวิทยายุทธในราชวงศ์หมิง นับเป็นมรดกอันล้ำค่าทางด้านอู่สู้ เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการศึกษาวิทยายุทธของคนรุ่นหลัง
ราชวงศ์ชิงซึ่งปกครองต่อจากราชวงศ์หมิง และเป็นราชวงศ์สุดท้ายของสังคมศักดินาของจีน ตระกูลสูงศักดิ์ของชนเผ่าแมนจูเสริมสร้างอำนาจการปกครองของตน ด้วยการห้ามฝึกวิทยายุทธอยู่ระยะหนึ่ง ปลายราชวงศ์ชิง ผู้ปกครองชาวแมนจูซึ่งมีพระนางซูสีไทเฮาเป็นตัวแทน ได้คบคิดกับลัทธิจักรวรรดินิยมต่างชาติ ร่วมกดขี่ขูดรีดชาวจีน แต่เนื่องด้วยวิทยายุทธได้ฝังรากฐานในหมู่ประชาชนอย่างสนิทแน่นมาหลายราชวงศ์แล้ว ประกอบกับขณะนั้นมีขบวนการต่อต้านราชวงศ์ชิงและมุ่งฟื้นฟูราชวงศ์หมิงไม่น้อยในหมู่ประชาชนจีน ชาวบ้านทั่วไปก็ปรารถนาจะโค่นล้มการปกครองอันเน่าเฟะของแมนจู ทำให้อู่สู้ที่แปลว่าวิทยายุทธค่อยๆพัฒนาจนมีสำนักมากมาย วีรชนอันกล้าหาญอาศัยวิทยายุทธหรือกังฟูเป็นอาวุธอันร้ายกาจ ต่อสู้กับการปกครองของราชวงศ์แมนจูและการรุกรานจีนของทหารพันธมิตรต่างประเทศตลอดราชวงศ์ชิง และได้สร้างชื่อเสียงโด่งดังร่ำลือไปทั่วโลก ประวัติศาสตร์ได้บันทึกคุณงามความดีของวีรชนดังกล่าว อาทิ สำนักเส้าหลิน สำนักอู่ตัง นักมวยไท้เก๊ก นักมวยหมีจงเป็นต้น สำนักวิทยายุทธมากมายที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยนั้นดุจต้นไม้ในราวป่า เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่า อู่สู้หรือวิทยายุทธเจริญรุ่งเรืองพอดูในราชวงศ์ชิงของจีน