AEC+3 Summit 2014 ก้าวสู่ความมั่งคั่งด้วยการเชื่อมโยงสู่ภูมิภาค
  2014-11-14 20:34:56  cri

กรุงเทพฯ – การประชุม AEC +3 Summit ปี 2014 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ณ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอทเซ็นทรัลเวิร์ด กรุงเทพฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเดอะอินเทลลิเจนซ์ยูนิต (The Economist Intelligence Unit), ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank – ADB), ตัวแทนจากฝ่ายรัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆของไทยรวมถึงบริษัทข้ามชาติเข้าร่วมการสัมมนา

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในช่วงการสัมภาษณ์และปาฐกถาพิเศษว่า สถานการณ์ด้านการเมืองของไทยในตอนนี้หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ปลายปีหน้าก็จะมีการเลือกตั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยบ้างแต่ก็ไม่มากเท่าไรนักเนื่องจากจีดีพีของประเทศไทยมากกว่า 80% อยู่ในมือของเอกชน ไทยควรสนับสนุนและวางแผนในเรื่องการประหยัดพลังงาน ซึ่งรวมถึงยกระดับในเรื่องมาตรฐานการประหยัดพลังงาน เช่น ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ของไทย เทียบเท่าได้กับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 2 ของสิงคโปร์ เป็นต้น

สำหรับการเปิด AEC ในปีหน้า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทยและเพื่อนบ้าน เนื่องจากไทยก็เป็นผู้นำในด้านการส่งออกสินค้าหลายอย่าง เช่น รถยนต์ อาหารทะเล การรวมกลุ่มกันในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในเขตภูมิภาคซึ่งรวมถึงประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชียอย่างจีน และทำให้อาเซียนสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตอบสนองได้กับความต้องการของทุกระดับ

มีการเปรียบเทียบ AEC กับสหภาพยุโรป ซึ่งบางเรื่องอาจจะมีความคล้ายคลึงบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เราไม่มีสกุลเงินร่วม (common currency) เป็นต้น นอกจากนี้ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร ยังให้ความเห็นว่าอาเซียนควรจะเน้นเรื่องการลงทุนข้ามชาติระหว่างกัน (cross-investment) เพราะจะช่วยให้โตไปได้พร้อมๆกัน ส่วนใครจะต้องเตรียมตัวเรื่องใดมากน้อยแค่ไหนนั้นอยู่ที่ความพร้อมของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามรัฐบาลของแต่ละประเทศยังคงเป็นผู้เล่นสำคัญในการกำหนดทิศทางและผลักดันนโยบายต่างๆ การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ออเรียลทัลสไตล์ (หรือแบบตะวันออก) คือ ช้าแต่ก็มา

ประเทศไทยเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในการผลิตไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม สิ่งที่ไทยยังต้องการคือการมีคน(ประเทศ)มาช่วยค้าขายและอยากให้ต่างชาติมาตั้งสำนักงานที่นี่ ในขณะที่ไทยจะวางตัวเองเป็นประเทศค้าขาย (Trading Country/Nation) และหากแผนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ขนส่ง, รถไฟทางคู่ ออกมาเป็นรูปร่างก็น่าจะกระตุ้นการตื่นตัวของต่างชาติให้มาลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่ายอดการส่งออกของไทยอาจจะชะลอตัวลงแต่ยังคงเป็นบวกอยู่

ตัวแทนจากบริษัทข้ามชาติหลายแห่งที่มาร่วมสัมมนากล่าวจากมุมมองของนักลงทุนว่า อาเซียนเป็นตลาดที่ใหญ่ มีประชากรมาก สิ่งที่ต้องคำนึงถึงควรเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ ส่วนสิ่งที่กังวล อาทิ ขีดความสามารถของโลจิสติกส์, การปรับปรุงเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวกับพลังงาน , ความแน่นอนและเท่าเทียมในเรื่องกฎระเบียบและบรรยากาศด้านการเมือง

ข้อสังเกตอื่นๆที่น่าสนใจจากนักลงทุน เช่น เรื่อง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ปรับปรุงเรื่องการศึกษาและความสามารถในการใช้ภาษา, เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเมืองไทยยังไม่ได้ใช้ศักยภาพด้านนี้อย่างเต็มที่ มีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน, การนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการเกษตร การชลประทาน ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ, ลดการพึ่งพิงการส่งออก เน้นการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น, การเปิดการแข่งขันเสรี ฯลฯ

อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ของ AEC ดูดีเพราะเป็นเรื่องที่สามารถปฏิบัติได้จริง ถึงแม้ความแตกต่างของแต่ละประเทศจะทำให้การรวมกลุ่มกันนั้นไม่ง่ายนัก แต่หากสามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นผลประโยชน์แก่ทุกฝ่ายได้ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปได้ดี กระทั่งสหภาพยุโรปหรือ EU ยังผ่านเรื่องราวและอุปสรรคมากมายกว่าจะมาได้ระดับนี้ เพราะฉะนั้น AEC ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งเวลาให้รีบประสบความสำเร็จในเร็ววัน

การสนับสนุนและทำงานใกล้ชิดกับกลุ่ม SMEs ก็เป็นอีกข้อเสนอแนะหนึ่งสำหรับไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเตรียมตัวให้พร้อมกับการเปิด AECที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นานนี้

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040