หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้ารายงานว่า ในช่วง 10 ปีมานี้ มีบริษัทผู้ผลิตของจีน 62 แห่งตั้งบริษัทในเขตนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีนที่จังหวัดระยอง ซึ่งรวมทั้งกิจการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์รถมอเตอร์ไซค์และอิเล็กทรอนิกส์เครื่องยนต์ที่ไทย ตลอดจนกิจการพลังงานใหม่และวัสดุใหม่ที่จีนมีเทคโนโลยีนำหน้า กระทั่งถึงกิจการโลหะ เหล็กและเหล็กกล้าที่เป็นกิจการเก่าแก่มีมาช้านานของจีน แสดงให้เห็นว่า วิสาหกิจการผลิตของจีนนิยมไปพัฒนาที่เขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น รวมถึงวิสาหกิจการผลิตของยุโรปและญี่ปุ่นก็นิยมไปพัฒนาที่เขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน
ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคาร ANZ ของออสเตรเลียได้ประกาศรายงานที่มีหัวข้อว่า "อาเซียน เส้นขอบฟ้าเส้นต่อไป" โดยระบุว่า แรงงานราคาถูกของพม่า กัมพูชา และลาว กับความได้เปรียบทางต้นทุนของไทย เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ตลอดจนนักธุรกิจด้านการผลิตที่มีเงื่อนไขพร้อมของสิงคโปร์และมาเลเซีย ได้ก่อรูปขึ้นเป็นเครือข่ายการผลิตที่สมบูรณ์แบบ และได้ผลักดันให้อาเซียนกลายเป็นกลุ่มเติบโตกลุ่มที่ 3 ในเอเชียซึ่งรองจากจีนกับอินเดีย
ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ของอาเซียน จะสร้างประชาคมทางเศรษฐกิจอาเซียนให้สำเร็จภายในปลายปีนี้ ถึงเวลานั้น สินค้า บริการ เงินทุนและแรงงานของ 10 ประเทศสมาชิกจะหมุนเวียนอย่างเสรี การใช้ความเกื้อกูลทางเศรษฐกิจและการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้อาเซียนมีแรงดึงดูดและศักยภาพในการเติบโตมากยิ่งขึ้น
รายงานฉบับนี้ระบุว่า ถึงปี 2030 คนที่อายุต่ำกว่า 30 ปีจะมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร 650 ล้านคนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในจำนวนนี้จะมีบุคคลจำนวนมากกลายเป็นชนชั้นกลางที่มีกำลังการบริโภคที่เข้มแข็ง นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร ANZ ของออสเตรเลียประกาศว่า ภายในเวลา 10-15 ปีข้างหน้า เนื่องจากวิสาหกิจจะโยกย้ายไปยังเขตที่มีแรงงานราคาถูก เช่น แม่น้ำโขง เป็นต้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็น "โรงงานโลก" แห่งใหม่
คนในวงการและนักวิชาการเห็นว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีแนวโน้มอุตสาหกรรมการผลิตโยกย้ายไปยังเขตตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมาแทนที่จีนขึ้นเป็น"โรงงานโลก"ลำดับต่อไป เพราะจีนกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างมีความได้เปรียบต่างกัน ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกมีการแบ่งงานในเขตเอเชียละเอียดมากขึ้น ดังนั้น ทั้งเอเชียอาจจะกลายเป็น"โรงงานโลก"ด้วยกัน
(Yim/zheng)