กรุงเทพฯ – ประเทศจีนเป็นหนึ่งในอารยธรรมโบราณที่เก่าแก่ที่สุดของโลก และเป็นประเทศเดียวที่มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันจากรุ่นสู่รุ่นต่อเนื่องกันมาอย่างไม่ขาดสาย เมื่อกล่าวถึงการศึกษา บุคคลสำคัญที่โด่งดังมากในด้านการศึกษาของจีนก็คือ "ขงจื่อ" ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศจีน สำนักปรัชญาขงจื่อกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกและสถานะทางประวัติศาสตร์ของประเทศจีนมีความสอดคล้องกัน "ขงจื่อ" กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมของโลก และปรัชญาของขงจื่อก็ได้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของมวลมนุษยชาติ
ขงจื่อเป็นผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญาขงจื่อ ตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นและราชวงศ์ทั้งหมดในประวัติศาสตร์จีนต่างยกย่องให้ขงจื่อเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์เป็นเลิศ ก่อนเสียชีวิตขงจื่อไม่ได้คาดหวังไว้ว่าตัวเองจะมีเกียรติยศ ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เป็นอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถ และยังเป็นแบบอย่างผู้ที่ใช้ชีวิตด้านการเรียนที่ดีและคุ้มค่า ทั่วประเทศจีนยังสร้างศาลเพื่อให้ลูกหลานและลูกศิษย์ได้เคารพบูชา และยังสร้างศาลให้กับบุคคลที่ทำคุณงามความดีเช่นเดียวกับขงจื่อ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมความคิดแบบสังคมศักดินาตั้งแต่ต้นจนจบของประเทศจีนในสมัยนั้นจึงมีความหมายว่าด้วยความเคารพและบูชาขงจื่อ เรียกได้ว่าเป็นครูตลอดกาลของชาวจีนก็ว่าได้
เมื่อปีที่แล้วมีจำนวนสถาบันขงจื่อในประเทศไทยทั้งหมด 12 แห่งและมีเปิดเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งในปีนี้ ได้แก่ สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลและสถาบันขงจื่อมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเปิดสอนภาษาจีนตั้งแต่ปี 1987 โดยจะเด่นเรื่องภาษาจีนธุรกิจ ด้วยการเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ภาษาศิลปวัฒนธรรมของจีน สถาบันขงจื่อมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจึงได้มีการจัดตั้งขึ้นและเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 ณ ม.อัสสัมชัญ วิทยาเขตสุวรรณภูมิ โดยมีภราดาบัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวต้อนรับ และมีบุคคลสำคัญ อาทิ นายหวัง โซว่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเทียนจิน, มาดามซุน หลิน ผู้แทนฮั่นปั้นประจำประเทศไทย, นายเฉินเจียง ตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, มาดาม เฉา เสี่ยวหง รองผู้ว่าเมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน, หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายยง สุขสุดประเสริฐ ประธานสมาคมหอการค้าไทย-จีน เข้าร่วมแสดงความยินดี
หลังจากพิธีเปิดป้ายอย่างเป็นทางการ แขกผู้มีเกียรติได้เยี่ยมชมห้องเรียนสถาบันขงจื่อที่ทันสมัยและสะดวกสบาย โดยมีการสาธิตการสอนภาษาจีน การชงชา การเล่นกู่เจิง การถักเชือก การเขียนพู่กันจีน ซึ่งผู้สนใจสามารถสมัครเข้ามาร่วมเรียนรู้กิจกรรมเหล่านี้ได้กับทางสถาบันขงจื่อม.อัสสัมชัญ
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿