เมื่อปลายปีที่แล้ว จีนมีมติส่งเสริมการปฏิรูปจากแง่อุปทาน โดยจะมุ่งแก้ปัญหากำลังการผลิตล้นตลาดเป็นภารกิจอันดับแรก ต่อจากนั้นเมื่อต้นปีนี้ คณะรัฐมนตรีจีนให้แนวทางเกี่ยวกับการแก้ปัญหากำลังการผลิตล้นตลาดในกิจการเหล็กและเหล็กกล้า และกิจการถ่านหิน เพื่อบรรลุการพัฒนาอีกขั้น
เวลานี้ ปัญหากำลังการผลิตล้นตลาดเป็นเหมือน "เนื้องอกร้ายแรง" เป็นโรคที่ต้องเยียวยารักษาเร่งด่วนที่สุดสำหรับเศรษฐกิจในขณะนี้ นายเหมียว เหวย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนระบุเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ปี 2016 จะเดินหน้าแก้ปัญหากำลังการผลิตล้นตลาดจาก 4 ด้านด้วยกัน ดังนี้
"หนึ่ง จัดการ 'โรงงานมัมมี่'อย่างเหมาะสม สอง สั่งปิดโรงงานที่มีประสิทธิภาพต่ำ ใช้พลังงานมาก และไม่ได้มาตรฐานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และการผลิต สาม ส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีความพร้อมดำเนินการควบรวมกิจการข้ามสาขาและข้ามพื้นที่ และสี่ หยุดพิจารณาอนุมัติโครงการที่เข้าข่ายล้นตลาดเป็นอันขาดไม่ว่าด้วยรูปแบบใดก็ตาม"
ตามคำนิยามของทางการ "โรงงานมัมมี่" หมายถึงโรงงานที่หยุดการผลิตแล้ว กึ่งหยุดการผลิต ขาดทุนหลายปี และสินทรัพย์น้อยกว่าสินเชื่อ แต่ยังคงพยุงกิจการอยู่โดยอาศัยเงินสนับสนุนจากภาครัฐและสินเชื่อจากธนาคารต่อไป
ระหว่างการจัดการ "โรงงานมัมมี่" นั้น การจัดหางานใหม่ให้กับพนักงานและการจัดการสินทรัพย์เป็น 2 เรื่องที่ยากที่สุด นายเฝิง เฟย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนระบุว่า จีนจะตั้งกองทุนเฉพาะกิจวงเงิน 100,000 ล้านหยวน อายุ 2 ปี เพื่อนำไปใช้กับพนักงาน "โรงงานมัมมี่" โดยจะจัดหางานใหม่และอบรมทักษะวิชาชีพให้พนักงานดังกล่าว ซึ่งต้องดำเนินการให้ดี
(IN/LING)