ประเด็นร้อนที่สื่อทั่วโลกกำลังจับตามองโดยพุ่งเป้าหมายไปที่จีน ณ ตอนนี้คงไม่มีอะไรที่น่าสนใจเท่ากับการประชุมสองสภาประจำปีพ.ศ. 2559 (หรือค.ศ. 2016) ซึ่งเริ่มเปิดม่านไปแล้วไม่กี่วันที่ผ่านมา ไฮไลท์อยู่ที่การประชุมในครั้งนี้ จีนจะประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 และนี่ก็เป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกกำลังจับตาเพราะอยากทราบว่าแผนฯนี้จะหน้าตาเป็นอย่างไรและจะมีผลกระทบอะไรต่อพวกเขาบ้าง
ทาง CRI ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ รศ. ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน (TCRC) อาจารย์อักษรศรีท่านเป็นนักวิชาการที่ติดตามเรื่องจีนมาอย่างต่อเนื่อง เคยเดินทางลงพื้นที่มาแล้วทุกมณฑลของประเทศจีนและทุกประเทศในเขตอาเซียน ท่านได้กรุณาจับประเด็นหลัก 15 เรื่องที่ครอบคลุมหลายด้านจากการประชุมสองสภาในครั้งนี้มาเล่าให้พวกเราเข้าใจได้ง่าย และแถมท้ายด้วยการแนะนำผู้ประกอบการไทยให้เตรียมพร้อมโดยการใช้ข้อมูลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ค่ะ
เนื่องจากการประชุมเพิ่งเปิดไปได้ไม่กี่วันและยังไม่สิ้นสุด เราก็ยังคงต้องติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เริ่มมองเห็นชัดเจนบ้างแล้วที่พอจะจับได้มีอยู่ 15 ประเด็น ครอบคลุมเรื่องเศรษฐกิจมหภาค รายได้ประชากร พลังงาน สิ่งแวดล้อม คมนาคมขนส่ง รวมถึงด้านความมั่นคง
1.การตั้งเป้าทางเศรษฐกิจ - 5ปีจากนี้จะไม่โตแบบหวือหวาแล้ว เฉลี่ยอย่างต่ำ 6.5% อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้น่าจะมากพอที่จะพยุงเศรษฐกิจให้ยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกต่อไปได้
2.ปฏิรูปนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ (supple-side) คือการปฏิรูปทางด้านอุปทาน อธิบายให้เข้าใจง่ายว่า คือการดึงพลังของผู้ประกอบการจีนโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ใช่ไปพึ่งการใช้จ่ายของรัฐ การลงทุนของรัฐ หรือพวกรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ แต่เอาพลังของ SMEs จีนมาเป็นตัวขับเคลื่อน และรัฐจะส่งเสริมหรือเป็นพี่เลี้ยงในเรื่องของนวัตกรรม, อีคอมเมิร์ซ, ธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ, การผลิตในเชิงสร้างสรรค์, รวมทั้งโรงงานแบบสมาร์ท แฟคทอรี่ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการอัพเกรดอุตสาหกรรมจีน
3.ลดจำนวนพนักงานรัฐวิสาหกิจจากกอุตสาหกรรมที่มีปัญหาหรืออุตสาหกรรมที่ล้นเกิน อย่างเช่น ถ่านหิน หรือเหล็ก โดยตั้งเป้าลดจำนวน พนักงานถึง 5-6 ล้านคนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งถือว่าน่าจับตามองเพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่มีการลดจำนวนพนักงานรัฐวิสาหกิจมากถึงขนาดนี้
4.สร้างงานใหม่ – สืบเนื่องมาจากข้อ 3 การสร้างงานใหม่ประมาณ 10 ล้านตำแหน่ง และรักษาอัตราคนว่างงานในเมืองให้ไม่ให้เกินกว่า 4.5%
5.เงินเฟ้อ - ตัวเลขที่ 3 % กำลังดี
6.การลงทุนในภาคบริการ - ต้องมีสัดส่วนที่มากขึ้นต่อ GDP จีนโดยตั้งเป้าไว้ที่ 56% ก่อนหน้านี้จีนจะพึ่งการค้าสินค้าเป็นหลัก แต่ต่อไปจะให้ภาคบริการของจีนมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งรวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
7.ขาดดุลงบประมาณ – เป้าที่ 3% ของ GDP ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ปัจจุบันหนี้สาธารณะของจีนอยู่ที่ตัวเลขกลมๆ ประมาณ 56% ของ GDP เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่นในยุโรปถือว่าไม่ใช่ตัวเลขที่สูงมากแต่อย่างใด
8.ให้ประชากรจีนมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6.5% ต่อปี ซึ่งเป็นรายได้สุทธิหลังหักภาษี
9.มาตรการความเป็นเมืองหรือ Urbanization จะสูงขึ้น และคนเหล่านี้จะกลายมาเป็นชนชั้นกลางของจีนในอนาคต เป็นการยกระดับชีวิตคนในเมือง
10.ประกาศควบคุมการใช้ถ่านหินภายในประเทศให้ลดลง
11.การใช้พลังงานจากฟอสซิล ที่สร้างมลภาวะหรือภาวะเรือนกระจกก็จะให้มีการใช้ลดลงเช่นเดียวกัน
12.เน้นเรื่องคุณภาพอากาศในเมือง
13.การผลิตไฟฟ้าในอนาคต จะเน้นที่การใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มากขึ้น ถือว่าเป็นพลังงานสะอาดอีกทางหนึ่ง
14.โครงข่ายคมนาคม โดยเพิ่มเส้นทางของรถไฟความเร็วสูงซึ่งปัจจุบันมีอยู่ที่ประมาณ 10,000 กิโลเมตร เพิ่มเป็น 30,000 กิโลเมตรภายในปี 2020 และหากพูดถึงระยะทางของรถไฟความเร็วสูงและรถไฟธรรมดาของจีนตอนนี้มีความยาวรวมกันมากกว่าหนึ่งแสนกิโลเมตรแล้ว รวมถึงการสร้างสนามบินใหม่อีก 50 แห่ง
15.ความมั่นคง โดยเพิ่มงบประมาณทางด้านกลาโหม 7.6% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี โดยจะปรับปรุงให้กองทัพมีความทันสมัยมากขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องเน้นบุคลากร
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
หากจีนสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้แล้ว น่าจะเป็นผลดีและเป็นโอกาสต่อผู้ประกอบการไทยและอาเซียนด้วย เนื่องจากประเทศจีนจะเป็นจีนที่มีคุณภาพมากขึ้น สะอาดขึ้น ยกระดับขึ้น
การที่คนจีนมีรายได้สูงขึ้น ชนชั้นกลางซึ่งมีกันอยู่ประมาณ 300 ล้านคนเหล่านี้เป็นพวกเน็ตทิเซ่น (Netizen) ชอบซื้อของออนไลน์ โหยหาสินค้าที่คุณภาพ ละเมียดละไมกับการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น พอใจที่จะซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศหากมีคุณภาพดีพอ ซึ่งนี่คือโอกาสของผู้ประกอบการชาวไทย
ที่ผ่านมาการส่งออกของไทยไปจีนจะเน้นพวกวัตถุดิบหรือกึ่งวัตถุดิบ พอส่งไปแล้วจีนก็นำของเราไปแปรรูปและส่งออกต่อไป กลายเป็นว่าสินค้าที่เราส่งไปไม่ได้ไปป้อนให้ลูกค้าคนจีน พอ1-2ปีที่ผ่านมาตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง จีนส่งออกมีปัญหา ไทยก็กระทบตามไปด้วย หากเราปรับกลยุทธ์ใหม่มองตลาดจีนให้เป็นกลุ่มลูกค้า ขายให้คนจีนใช้หรือบริโภคโดยตรงน่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบุกและครองใจตลาดลูกค้าชาวจีนแต่หากเราตั้งใจและเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ เตรียมตัวเรา พัฒนาสินค้าและบริการของเราให้พร้อม ผู้ผลิตไทยก็ยังพอมีเวลาและมีโอกาสที่สดใสในการยืนหยัดในเศรษฐกิจโลกต่อไปได้ค่ะ
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿