กรุงเทพฯ –หลังจากที่มีการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ณ เมืองซานย่า ประเทศจีน โดยครั้งนั้น มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยและนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมประชุม
ล่าสุด สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดเวทีเสวนาระดมความคิดในหัวข้อ "ปัญหา โอกาส และอนาคตของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง"มีผู้ทรงคุณวุฒิจาก 4 ใน 6 ประเทศสมาชิกเข้าร่วมได้แก่ ไทย จีน กัมพูชาและเวียดนาม โดยงานนี้จัดขึ้นเมื่อ 28 เมษายน 2559 ที่ห้องมณฑาทิพย์ 3 โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ
นายหู เจิ้งเยว่ รองประธานสมาคมการทูตสาธารณะแห่งประเทศจีน (China Public Diplomacy Association) กล่าวในช่วงปาฐกถาเปิดงานว่าหลังจากความสำเร็จของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดยมีสมาชิก 6 ประเทศเข้าร่วมนั้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศรอบด้านโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสมาชิก การรวมตัวกันในครั้งนี้มีเรื่อง 3 อย่างที่สำคัญคือ การที่ผู้นำแต่ละประเทศผลักดันให้เกิดผลสำเร็จขึ้นได้, ผลประโยชน์ที่สมาชิกแต่ละประเทศจะได้รับและความมั่นคงยั่งยืน สำหรับตนในฐานะที่เคยทำงานอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนมาถึง 35 ปีมีความมั่นใจว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี
นายกวี จงกิจถาวร คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่นและนักวิจัยอาวุโสของ ISIS กล่าวถึงความสำคัญของแม่น้ำโขง สำหรับแต่ประเทศ แม่น้ำโขงเป็นมากกว่าแค่ "แม่น้ำ" ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทย แม่น้ำโขงเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ถูกนำไปตั้งชื่อสุราเก่าแก่ชื่อดัง มีตำนานความเชื่อลึกลับและเป็นแหล่งกำเนิดของสัตว์น้ำมากมาย เขาตั้งข้อสังเกตว่าหากจีนมองแม่น้ำโขงเป็นประตูด่านหน้า จีนจะให้ความสำคัญและนั่นจะเป็นผลดีต่อทุกคน สิ่งสำคัญคือการแบ่งปันข้อมูลการจัดสรรน้ำที่ถูกต้องแม่นยำจะช่วยให้ประเทศที่อยู่ปลายน้ำสามารถจัดการและรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ดีขึ้น
ด้านนายโพ โสทิรัก (Pou Sothirak) ผู้อำนวยการสถาบัน Cambodian Institute for Cooperation and Peace (CICP) จากกัมพูชา กล่าวว่าความร่วมมือนี้จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความโปร่งใส ความเชื่อใจและการแบ่งปันและเข้าถึงข้อมูลที่เท่าเทียม หากต้องการสร้างเขื่อนหรือใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ควรมีการทำการสำรวจและวิจัยอย่างละเอียดและได้รับผลตอบรับในด้านบวกก่อนจะลงมือเริ่มโครงการ และแน่นอนว่าการจัดการแหล่งน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมเป็นสิ่งที่จำเป็น
นายหยาง อี้ เลขานุการของสถาบัน Chinese Institute of International Studies (CIIS) กล่าวว่า สำหรับจีน การแบ่งปันทรัพยากรน้ำและสันติภาพเป็นเรื่องสำคัญ คำว่าแม่น้ำในภาษาจีนเรียกว่า "เหอ" (河) สำหรับความร่วมมือกันเราคงต้องยึดหลัก "เหอหลิว – เหอผิง - เหอจั้ว" (河流-和平-合作) ซึ่งแปลว่า "แม่น้ำ-ความสงบสุข-ความร่วมมือ" (ในภาษาจีน คำว่าเหอ เป็นคำพ้องเสียง ออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนไม่เหมือนกัน) หลายคนมองว่าจีนจะมีอิทธิพลต่อการใช้ประโยชน์จากแม่โขงมากเพราะอยู่ต้นน้ำ แต่แท้จริงแล้วผู้ที่อยู่ปลายน้ำก็มีผลต่อต้นน้ำเช่นเดียวกัน และหากมีอะไรที่จีนช่วยเพื่อนบ้านได้ จีนก็ไม่ได้รอช้า เช่น ปล่อยน้ำมากขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้งให้แก่กัมพูชาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿