วานนี้ นายสวี หง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวกับสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศว่า กรณีพิพาททะเลจีนใต้ที่ฟิลิปปินส์เสนอให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาตัดสินฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ และเน้นว่าการอนุญาโตตุลาการที่เกี่ยวข้องไม่อาจมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายแต่อย่างใด ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ และไม่มีสิทธิ์ตัดสินคดี จีนจึงไม่ยอมรับแน่นอน
นายสวี หง ยังกล่าวด้วยว่า การแก้ข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยสันติวิธีเป็นหลักการสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศที่มีหลายวิธี ซึ่งการอนุญาโตตุลาการเป็นหนึ่งในวิธีการเหล่านั้น แต่เมื่อเทียบกับการเจรจาและการอภิปราย การอนุญาโตตุลาการถือเป็นทางเลือกรอง และมีเงื่อนไขที่เหมาะสมด้วยเหตุปัจจัย 4 ประการดังต่อไปนี้
หนึ่ง เรื่องที่เสนออนุญาโตตุลาการถ้านอกเหนือจากข้อตกลงของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ก็ไม่อาจจะบังคับให้มีการอนุญาโตตุลาการได้
สอง ถ้าข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการปักปันเขตแดนในน่านน้ำทะเล อ่าวหรือสิทธิอธิปไตย กิจกรรมทางการทหารหรือปฏิบัติตามกฎหมาย ประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลมีสิทธ์ไม่ยอมรับการบังคับอนุญาโตตุลาการ
สาม ถ้าคู่กรณีเลือกวิธีอื่นๆ แก้ข้อพิพาท ไม่ควรเสนอให้มีการบังคับอนุญาโตตุลาการ ศาลอนุญาโตตุลาการก็ไม่มีอำนาจ เขากล่าวว่า ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2002 เป็นต้นมา จีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งฟิลิปปินส์ได้ลงนามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ซึ่งข้อ 4 ของปฏิญญากำหนดอย่างชัดแจ้งว่า ให้ประเทศอธิปไตยที่เกี่ยวข้องโดยตรงจัดการเจรจาและอภิปรายกันฉันมิตร แก้ไขข้อพิพาทด้านอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนด้วยสันติวิธี ซึ่งหมายความว่า ฟิลิปปินส์ไม่มีสิทธิ์เสนออนุญาโตตุลาการโดยลำพังฝ่ายเดียว
สี่ ถ้าประเทศคู่กรณีซึ่งมีหน้าที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ไขข้อพิพาท หากประเทศคู่กรณีไม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อแก้ไขข้อพิพาทกัน ก็ไม่ควรเสนอให้อนุญาโตตุลาการ ศาลอนุญาโตตุลาการก็ไม่มีอำนาจพิจารณา ฟิลิปปินส์ไม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขข้อพิพาทกับจีน
นายสวี หงกล่าวว่า ด้วยเหตุปัจจัย 4 ประการดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการที่ฟิลิปปินส์เสนอให้อนุญาโตตุลาการโดยลำพังฝ่ายเดียวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ และละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล
In/kt