เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา "ประเทศเพื่อนบ้านที่งดงาม--งานเสวนาแลกเปลี่ยนศิลปหัตถกรรมจีน-ไทย" จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ผ้าไหมซูโจว เมืองซูโจว มณฑลเจียงซู งานเสวนาจัดเป็นเวลา 1 วันครั้งนี้ ร่วมกันจัดขึ้นโดยกรมมรดกวัฒนธรรมวิถีชนกระทรวงวัฒนธรรมจีนและกรมวัฒนธรรมมณฑลเจียงซู นายเซี่ยง เจ้าหลุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมจีน นางสาวภัทรนันท์ พัฒิยะ รองกงสุลใหญ่นครเซี่ยงไฮ้ นายหวัง หงเซิง รองนายกเทศมนตรีเมืองซูโจวร่วมพิธีเปิดงาน
นอกจากนี้ นายหม่า เซิ่งเต๋อ ผู้ตรวจการกรมมรดกวัฒนธรรมวิถีชนกระทรวงวัฒนธรรมจีน ดร. สิทธิชัย สมานชาติ ผู้เชี่ยวชาญผ้าไหมไทยจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นางชุติมา ดำสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด (Jim Thompson)นางเฉียน เสี่ยวผิง ผู้สืบทอดเทคนิคการทอผ้าไหม "ซ่งจิ่น" และนายจิน เหวินผู้สืบทอดเทคนิคการทอผ้าไหม "หยุนจิ่น"ของจีน ตลอดจนผู้ประกอบการศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมจากท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศ คณะครูอาจารย์และนักเรียนในโครงการอบรมกลุ่มผู้สืบทอดมรดกวัฒนธรรมวิถีชนของจีนกว่า 100 คนได้ร่วมงานด้วย
รองนายกเทศมนตรีหวัง หงเซิงกล่าวปราศรัยว่า ยินดีที่งานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นที่เมืองซูโจวในวันมรดกวัฒนธรรมของจีนครั้งที่ 11 ซึ่งตรงกับวันที่ 11 มิถุนายน จีนกับไทยต่างเป็นประเทศที่ให้ความสนใจต่อการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกวัฒนธรรม เชื่อว่า งานเสวนาครั้งนี้ จะเสนอโอกาสให้สองฝ่ายศึกษา แลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูล เพื่ออนุรักษ์ สืบทอด สร้างสรรค์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมวิถีชนให้ดียิ่งขึ้น
นางสาวภัทรนันท์ พัฒิยะ รองกงสุลใหญ่กล่าวว่า งานเสวนาครั้งนี้เป็นกิจกรรมแรกของกลไกการแลกเปลี่ยนศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ และเป็นที่น่ายินดีที่ไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับเชิญมาเสวนา ไทยมีความพร้อมที่จะทำความร่วมมือกับจีน ผ้าไหมที่สวยงามของจีนเป็นที่นิยมและต้องการกันมากในตลาดไทย เมื่อปีที่แล้ว ในการฉลอง 40 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ได้ร่วมมือกับกรมวัฒนธรรมของนครเซี่ยงไฮ้ จัดงานผ้าไหมสองแผ่นดิน ซึ่งเป็นการปูทางและสร้างฐานที่จริงจังมั่นคงสำหรับการพัฒนาความร่วมมือในเรื่องผ้าไหมต่อไป เชื่อว่า สองฝ่ายจะมีความร่วมมือในปริมณฑลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการตลาดและการลงทุน
ผู้เชี่ยวชาญจีนได้บรรยายเรื่องการสืบทอดและพัฒนาศิลปหัตถกรรมดั้งเดิม เช่นผ้าไหมซ่งจิ่นและผ้าไหมหยุนจิ่น ส่วนผู้เชี่ยวชาญไทยได้บรรยายการกอบกู้ ค้นหา อนุรักษ์ สืบทอดและพัฒนาผ้าไหมไทย ตลอดจนการผสมผสานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมกับเทคโนโลยี วัตถุดิบและแนวคิดการออกแบบที่ทันสมัยเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของประชาชน และได้แบ่งปันประสบการณ์การบุกเบิกตลาดในต่างประเทศด้วย
บรรดาผู้สืบทอด อาหารและนักเรียนที่ร่วมงาน พากันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญทั้งจีนและไทย โดยผู้เชี่ยวชาญไทยมีข้อเสนอเชิงสร้างสรรค์หลายประการ และต่างฝ่ายต่างหวังว่า จะมีความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมผ้าไหมและการอนุรักษ์ สืบทอดและพัฒนามรดกวัฒนธรรมวิถีชนอย่างกว้างขวางและมากยิ่งขึ้นในภายภาคหน้า
Yim/LR