ขอนแก่น – การเรียนภาษาจีนเป็นกระแสไปทั่วประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะแต่ในกรุงเทพฯเท่านั้น สถาบันขงจื่อและห้องเรียนขงจื่อเป็นอีกหน่วยงานสำคัญที่ช่วยเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมของจีนให้เข้าถึงได้ง่ายในจังหวัดต่างๆของประเทศไทย ล่าสุดเมื่อ 30-31 สิงหาคม 2559 สถาบันขงจื่อสำนักงานใหญ่และสำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ (ฮั่นปั้น) ในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก ร่วมกับสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะเจ้าภาพได้จัดงานงานประชุมผู้บริหารสถาบันขงจื่อและห้องเรียนขงจื่อแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2559
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือต้องการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านกรณีศึกษาของสถาบันขงจื่อและห้องเรียนขงจื่อแต่ละแห่ง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น งานประชุมในครั้งนี้มีแขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยนายหลี่ หมิงกัง กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำจังหวัดขอนแก่น, นายจาง เหลย ผู้อำนวยการหอการค้าจีนในไทยและประธานธนาคารแห่งประเทศจีน , ศ.ดร.ปรีชา ประเทพา รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ดร.ประชาคม จันทรชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษา ช่างอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ, นายโจว เกาอวี่ เลขานุการเอกด้านการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, นางเส้า ซวี่ปอ รองผู้อำนวยการฝ่ายสถาบันขงจื่อในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา, รศ.ดร.ลำปาง แม่นมาตย์ รองอธิการบดีวางแผนยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผศ.ดร.ภญ.อัจฉราวรรณ โตภาคงาม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ เข้าร่วมงานประชุมและกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิด รวมทั้งผู้อำนวยการฝ่ายไทยและจีนจากสถาบันขงจื่อ 14 แห่งและห้องเรียนขงจื่อ 11 แห่ง และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมประมาณ 60 คน
รศ.ดร.ลำปาง แม่นมาตย์ รองอธิการบดีวางแผนยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งแนะนำว่า สถาบันขงจื่อจัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมของประเทศจีน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติหรือฮั่นปั้น ซึ่งในระดับสถาบันมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะมีคู่ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน อย่างสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เป็นความร่วมมือระหว่างม.ขอนแก่นและม.ซีหนาน นครฉงชิ่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งได้ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2549 นับเป็นสถาบันขงจื่อแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทในการยกระดับความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมจีนผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิเช่น การสอนภาษาจีนในทุกระดับการศึกษา การจัดนิทรรศการและการแข่งขันวิชาการเพื่อการส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมจีน การจัดให้มีการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (HSK) การจัดให้มีทุนการศึกษาทั้งระยะสั้นและระยะยาว การบรรยายและสัมมนาเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมจีน และการเป็นแหล่งข้อมูลด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน
สำหรับการบริหารจัดการของสถาบันขงจื่อและห้องเรียนขงจื่อแต่ละที่นั้นจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายและแผนกลยุทธ์ของแต่ละสถาบัน บางแห่งมุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน บางแห่งมีความเข้มแข็งด้านการจัดการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (HSK) หรือบางแห่งก็ให้ความสำคัญกับการวิจัยและวิชาการ เป็นเลิศด้านศูนย์วิจัยภาษาจีนและประเทศจีน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้บริหารสถาบันในประเทศไทยได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการบริหารและระบบการทำงานของสถาบัน ตลอดจนการนำเสนอกรณีศึกษาในหัวข้อต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรต่อไป
ดร.ประชาคม จันทรชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย เนื่องจากภาษาจีนได้เข้ามามีบทบาทในฐานะภาษาที่สาม การศึกษาระดับอาชีวศึกษาจึงมีการมุ่งเน้นนโยบายการเรียนการสอนภาษาจีนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างทางทักษะภาษา และพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถานศึกษาในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพบุคคล เตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาโดยความร่วมมื
กับสำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนสู่นานาชาติแห่งประเทศจีน (ฮั่นปั้น) ได้พัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในสถานศึกษาด้วยกิจกรรมหลากหลาย เช่น การจัดค่ายภาษาจีนและด้านอาชีพ , การประกวดสุนทรพจน์ภาษาจีน, การให้ทุนการศึกษาและดูงาน รวมถึงช่วยให้คำปรึกษาและแนะแนว เป็นต้น
ข้อสรุปจากการประชุมในครั้งนี้ มีเป้าหมายที่ตั้งร่วมกันไว้ 5 ประการ ได้แก่ ดำเนินความร่วมมือระหว่างสถาบันขงจื่อกับวิสาหกิจของจีนเพื่อรับใช้ชุมชนและสังคม, ยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนภาษาจีนของสถาบันขงจื่อให้สูงขึ้น, ก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่าสถาบันขงจื่อ, ขยายการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (HSK) เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถด้านภาษาจีนให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้นและความร่วมมือระหว่างสถาบันขงจื่อและหน่วยงานต่างๆ ในการอบรมครูสอนภาษาจีนชาวไทย
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿