หลังจากนั้น มีการประกาศแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี เรื่องการขึ้นทรงราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ความว่า :
รัฐบาลขอประกาศให้ประชาชนชาวไทยทั้งที่อยู่ในราชอาณาจักร และในต่างประเทศทั่วโลกทราบทั่วกันว่า บัดนี้ประเทศไทยมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่แล้ว ตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงราชย์ของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรี และประธานศาลฎีกา ร่วมเป็นสักขีในพิธีประวัติศาสตร์นี้ และทรงพระกรุณารับคำกราบบังคมทูลอัญเชิญ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ และโบราณราชประเพณีทุกประการ ทั้งสนองพระราชดำริสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่พระราชทานไว้ตั้งแต่แรกว่าในระหว่างที่พระองค์เองและประชาชนกำลังทุกข์โศกอย่างใหญ่หลวงจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ยังไม่ควรดำเนินการเรื่องการสืบราชสมบัติทันทีในขณะนั้น หากแต่ควรรอจนการบำเพ็ญพระราชกุศลและการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพผ่านพ้นไปสักระยะหนึ่ง ซึ่งบัดนี้ถึงเวลาการบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวารคือครบ ๕๐ วัน และประชาชนได้มีโอกาสเข้าถวายบังคมพระบรมศพแล้วนับล้านคน จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
อนึ่ง เพื่อให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณี โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งยังสอดคล้องกับคตินิยมในนานาประเทศที่ว่า ราชอาณาจักรย่อมไม่ว่างเว้นขาดตอนจากการมีพระมหากษัตริย์ ดังนั้นการเริ่มรัชกาลใหม่จึงมีผลต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เป็นต้นไป
ณ บัดนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามกุฎราชกุมาร ซึ่งทรงสถิตอยู่ในพระราชสถานะองค์พระรัชทายาทมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๕ นับเป็นเวลาถึง ๔๔ ปี จึงทรงเป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ส่วนการจะดำเนินการต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามโบราณราชขัตติยประเพณีที่เรียกว่า "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับพระราชวินิจฉัย ซึ่งมีพระราชดำริแล้วว่าควรดำเนินการเมื่อเสร็จสิ้นการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศแล้ว
(IN/cai)