กรุงเทพฯ – วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ณ ห้องประชุมเมียร์ม่า โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพฯ สื่อใหญ่จากจีน- ไชน่านิวส์ เซอร์วิส (中国新闻社 - •China News Service) ประจำประเทศไทยได้จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความเห็นในหัวข้อ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" โดยเชิญสื่อในไทยที่ใช้ภาษาจีนเป็นหลักมาร่วมแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากสถานทูตจีนในประเทศไทยรวมถึงสื่อจีนที่มีสาขาอยู่ในประเทศไทย อาทิ พีเพิ่ลเดลี่, สำนักข่าวซินหัว, ซีอาร์ไอ, ซีซีทีวี, กวางหมิงเดลี่, สถานีโทรทัศน์หยุนหนาน ฯลฯ เข้าร่วมงาน
สื่อจีนในไทยได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ เช่น ถึงแม้แนวความคิด "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" หรือ "一带一路" (อี๋ไต้อี๋ลู่) จะถูกนำเสนอต่อสาธารณชนตั้งแต่ปี 2013 แต่สำหรับประเทศไทยแล้วกลับมีคนที่รู้จักแนวคิดนี้หรือมีความเข้าใจแนวคิดนี้เป็นจำนวนค่อนข้างน้อย เหตุผลหนึ่งอาจจะมาจากการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ยังไม่ดีพอ ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลนั้นต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและผู้ฟังสามารถเข้าใจได้อย่างแท้จริง
เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนเป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ความสำเร็จของแนวคิด "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง"ขาดไม่ได้ที่จะต้องให้วัฒนธรรมของอาเซียนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย และแน่นอนว่าปัจจุบันนี้ เราสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยให้การส่งต่อข้อมูลและเผยแพร่ข่าวสารเป็นไปอย่างว่องไวยิ่งขึ้น
เมื่อย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนหรือผู้รู้ภาษาจีนในไทย หากดูทีวีก็จะมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนเช่นดูช่องจีนเพื่อรับข่าวสารจากประเทศจีน และดูช่องของไทยเพื่อเสพข่าวในไทย ส่วนหนังสือพิมพ์ภาษาจีนนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย ต้องคนอ่านจีนออกเท่านั้นแหละที่จะอ่านได้ นั่นก็หมายความว่ายังมีชาวไทยจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงข่าวสารจากประเทศจีนโดยตรงเลย เมื่อเทียบกับตอนนี้ มีนิวมีเดีย คนเข้าถึงอินเตอร์เนตกันได้อย่างง่ายดาย นักท่องเที่ยวจีนมาไทยมากขึ้น คนไทยก็รู้ภาษาจีนมากขึ้น โอกาสในการเผยแพร่และรับรู้ข่าวสารก็สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต
หลังจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไชน่านิวส์ เซอร์วิสได้ทำการลงนามสัญญาความเข้าใจหรือ MOU ในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะในเรื่องหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งยังเป็นข้อมูลที่น่าสนใจและชาวไทยจำนวนมากยังมีความต้องการทราบอย่างใกล้ชิด ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของความร่วมมือระหว่างสื่อจีนไทยและเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿
ภาพ: พันธสัญญา โชติธนพุทธิพงษ์