ซีอาร์ไอ: จากการร่วมประชุมและเยี่ยมชมงานซีอาร์ไอในครั้งนี้ ทางกรมประชาสัมพันธ์และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย(สวท.) มีข้อเสนอแนะต่อการทำงานของฝ่ายจีนหรือแผนงานในอนาคตระหว่างกันอย่างไรบ้างครับ?
ผอ.วันเพ็ญ:ความจริงก็ผู้ประสานงานของทั้งสองฝ่ายมีช่องทางติดต่อกันอยู่เป็นประจำ และบอกความต้องการกันอยู่แล้ว สิ่งหนึ่งที่พวกเราคิดว่าสามารถร่วมกันทำได้มากขึ้นต่อไปก็คือเรื่องของการใช้เทคโนโลยีร่วมกัน หรือความร่วมมือที่มากขึ้น เช่นในกรณีที่มีเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วน เรื่องด่วน อย่างนี้ฝ่ายไทยอาจจะขอให้ซีอาร์ไอรายงานข่าวนั้นให้เป็นพิเศษ
ซีอาร์ไอ: เป็นเชิงการรายงานสดหรือประสานงานกันเฉพาะกรณีใช่ไหมครับ เช่นว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นที่ประเทศจีน ฝ่ายไทยก็จะขอความร่วมมือจากซีอาร์ไอช่วยรายงานข้อมูลข่าวสารต่างๆ หรืออาจส่งผู้สื่อข่าวมาร่วมกันทำงานที่จีน เช่นเดียวกันหากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย ซีอาร์ไอก็สามารถส่งผู้สื่อข่าวไปปฏิบัติงานตามกลไกของกรมประชาสัมพันธ์หรือสวท. ได้เช่นกันครับ
ผอ.วันเพ็ญ:ใช่ค่ะ ก็ถือว่าเป็นความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสาร และการอำนวยความสะดวกระหว่างกันในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความต้องการข้อมูลเหล่านั้นเป็นการเฉพาะกิจค่ะ
ซีอาร์ไอ: ในยุคสังคมเทคโนโลยีสารสนเทศ แนวโน้มการพัฒนาของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนทั้งระดับรัฐและระดับท้องถิ่นต่างพัฒนาในลักษณะเป็นสื่อมัลติมีเดียมากขึ้น ดังนั้น ในด้านการพัฒนาอย่างผสมผสานของสื่อ กรมประชาสัมพันธ์มีนโยบายหรือมีมาตรการที่จะสนับสนุนการพัฒนาสื่อมัลติมีเดียอย่างไรครับ?
ผอ.วันเพ็ญ: ก็ต้องชื่นชมซีอาร์ไอ มีทั้งแอพพลิเคชั่นและวิทยุออนไลน์ที่เป็นที่ทราบว่าเรตติ้งดี มีกลุ่มผู้ฟัง ได้รับความนิยม ซึ่งทางกรมประชาสัมพันธ์เองก็เริ่มมีการใช้มัลติมีเดียมากขึ้นนะคะ เราสองหน่วยงาน ซีอาร์ไอกับกรมประชาสัมพันธ์ก็มีการให้แชร์เฟซบุ๊ค หรือว่าข้อมูลจากออนไลน์ของสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์หรือ NNT.PRD นะคะ ก็เป็นช่องทางหนึ่งของโซเชียลมีเดีย ที่สามารถแบ่งปันกันได้ค่ะ
ซีอาร์ไอ: ใช่ครับ ทางสวท.ได้มีการแบ่งปันข้อมูลโซเชียลมีเดียผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊ค "ไชน่าเฟซ" ของซีอาร์ไอภาคภาษาไทยด้วยดีมาตลอด ซึ่งในที่ประชุมวันนี้ ทางซีอาร์ไอก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตรายการท่องเที่ยวของซีอาร์ไอออนไลน์ และผู้ผลิตรายการวิทยุภาคภาษาอังกฤษสำหรับการออกอากาศผ่านสวท. มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตรายการและปรับปรุงกลไกการทำงานระหว่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของฝ่ายไทยและจีนให้มากขึ้นด้วย ท่านเองมีความคิดเห็นอย่างไรต่อผลการประชุมในด้านนี้ครับ?
ผอ.วันเพ็ญ: ก็เป็นการบริการที่น่าสนใจของซีอาร์ไอนะคะ และเป็นช่องทางอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้กลุ่มผู้ฟังที่เป็นชุมชนนานาชาติได้รับรู้เรื่องราวของจีน ในขณะเดียวกันฝั่งไทยก็หวังว่าจะได้จัดส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่เข้ากับรายการของซีอาร์ไอที่เป็นภาคภาษาอังกฤษ เพราะได้ทราบว่าได้รับความนิยมสูงเช่นกัน ในขณะที่ภาคภาษาอังกฤษของวิทยุแห่งประเทศไทยเอง ก็ให้บริการประชาชนอยู่แล้ว และก็มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลากหลายเช่นกันค่ะ