เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ชาวเมืองปักกิ่งชอบเล่นว่าวตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะนิยมเข่งกันเล่นในตอนกลางฤดูใบไม้ผลิของทุกปี ซึ่งตรงกับช่วงก่อนและหลังเทศกาลตรุษสงกรานต์ของชาวไทย เนื่องจากมีท้องฟ้าโปรดโปร่งเสมอ และมีลดพัดพอเหมาะ จึงเป็นช่วงเวลาทองแห่งการเล่นว่าวในปักกิ่ง
ว่าวพื้นเมืองปักกิ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในหมู่ชาวบ้านทั่วไปมีเรื่องเล่าขานมากมายเกี่ยวกับการเล่นว่าวบอกต่อกันมารุ่นต่อรุ่นจนถึงปัจจุบัน ในอดีต เมื่อย่างเข้าฤดูกาลนี้ จะมีแผงลอยขายว่าวหลากหลายรูปแบบตามทุกถนนหนทางและตรอกซอกซอย สีสดชื่นบนตัวว่าวช่วยกันเติมพลังชีวิตให้กับปักกิ่งทั้งๆ ที่ความหนาวเหน็บยังไม่ได้จางหายหมดสิ้น
ว่าวเป็นงานศิลปะพื้นเมืองที่ชาวจีนประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นทั้งเครื่องประดับและของเล่น การสร้างว่าวในประเทศจีนมีความเป็นมานานกว่า 2,000 ปี หนังสือโบราณสมัยชุนชิวจั้นกั๋วของจีนชื่อ "หานเฟยจื้อ" บันทึกไว้ว่า "ม่อจื๊อใช้เวลา 3 ปีสร้างมู่ยวน(ว่าวไม้)ให้สำเร็จ" (ม่อจื๊อเป็นนักปรัชญา นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์กับนักการทหารที่มีชื่อเสียงในสมัยชุนชิวจั้นกั๋วของจีนก่อนจักรพรรดิจิ๋นซีรวมจีนเป็นเอกภาพ) มู่ยวนของม่อจื๊อเป็นยานพาหนะโครงสร้างไม้ที่บินลอยในท้องฟ้าได้
ต่อมาในราชวงศ์ฮั่น "หานซิ่น" แม่ทัพโด่งดังในประวัติศาสตร์จีน ผู้ช่วยจักรพรรดิหลิวปังก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นนั้น เคยใช้ว่าวกระดาษกลางท้องฟ้าในการตรวจวัดเพื่อคิดคำนวณช่องทางที่เหมาะสมในการบุกโจมตีเข้าเมือง ว่าวในสมัยนั้นจึงเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประโยชน์ด้านการศึกของทหาร พอถึงราชวงศ์ถัง ตัวว่าวค่อยๆ กลายเป็นของเล่นของพระบรมวงศานุวงศ์และผู้มีตระกูลสูงศักดิ์ กระทั่งถึงราชวงศ์ซ่ง การเล่นว่าวเริ่ม แพร่หลายสู่หมู่ชาวบ้านทั่วไป
ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีน หนังสือเรื่อง "ซวนเหอเฟิงเจิงผู่" ในราชวงศ์ซ่งเป็นนิพนธ์เกี่ยวกับศิลปะว่าวเก่าแก่ที่สุด เล่ากันมาว่า เฉา เสวี่ยฉิน นักประพันธ์ยอดเยี่ยมราชวงศ์ชิง ผู้เขียนนวนิยาย "ความฝันในหอแดง" เคยแต่งหนังสือ "หนานเย่าเป่ยยวนเข่ากงจื้อ" เป็นงานบันทึกรวบรวมผลการศึกษาว่าวทั้งภาคใต้และภาคเหนือของจีนอย่างเป็นระบบ ที่น่าเสียดายมากคือ หนังสือเล่มนี้สูญหายไปพร้อมกับกาลเวลาแล้ว
สำหรับตำนานการสร้างกับการเล่นว่าวของคนปักกิ่งในอดีต ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าปากต่อปากในหมู่ชาวบ้านทั่วไป ข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นมีค่อนข้างน้อยในปัจจุบัน โชคดีที่นายกวน เป่าเสียง นักอนุรักษ์ศิลปะว่าวพื้นเมืองปักกิ่งที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นผู้เรียบเรียงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับว่าวที่มีชื่อว่า "เป่ยหยวนเฟิงฉิงลู่" ไว้ให้คนรุ่นหลังเปิดอ่านทบทวน และทำความเข้าใจกับประเพณีการเล่นว่าวที่มีเอกลักษณ์พื้นเมืองปักกิ่ง และน่าสนใจสำหรับกลุ่มรักชีวิตที่แท้จริง
ตัวอักษรที่มีชีวิตชีวาในหนังสือเล่มนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมเล่นว่าวที่เข้มข้นของชาวปักกิ่งในอดีต ฉากเพลิดเพลินกับการเล่นว่าวของคนทุกเพศทุกวัย ทักษะการสร้างว่าวอันยอดเยี่ยมของช่างเลื่องลือหลายคน ความใฝ่หาความสนุกสนานในชีวิตของชาวบ้าน ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่มีสีสันในอดีตนั้น