เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า นิยาม "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ที่ว่านี้ มีความเป็นมาจาก "เส้นทางสายไหม" อันเป็นช่องทางการค้าข้ามชาติที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในสมัยโบราณของจีน แต่ทว่า สินค้าจีนที่ส่งออกนอกประเทศผ่านเส้นทางสายไหมเดิมนั้น เป็นสินค้าลักษณะ "เบา" โดยตัวหลักๆ เช่น ผ้าไหม ใบชาและเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ ปัจจุบัน ภายใต้ข้อเสนอ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ของรัฐบาลจีน อุตสาหกรรมที่ลุยออกไปพัฒนาต่างแดนของจีน กลับมีลักษณะ "หนัก" มาก อาทิ รถไฟความเร็วสูง พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เทคโนโลยีการบินอวกาศ และท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น
พิจารณาจากประสบการณ์การพัฒนาของวิสาหกิจข้ามชาติระดับโลก โครงการประเภท "หนัก" ดังกล่าว ส่วนใหญ่กว่าจะตั้งหลักแหล่ง แล้วได้รับผลคืบหน้าสำคัญในการพัฒนาที่ต่างชาติ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นัก สำหรับวิสาหกิจข้ามชาติที่ประสบความสำเร็จแล้ว นอกจากต้องครองความได้เปรียบทางทำเลที่ตั้ง(Location Based a Advantages) ที่จะทำให้สามารถเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในประเทศและภูมิภาคที่เลือกสรรไว้ หากยังจำเป็นต้องมีเครือข่ายระดับโลกที่มีความสมบูรณ์แบบด้วย นั่นก็คือ ความได้เปรียบทางระบบ(System Based Advantages) สำหรับวิสาหกิจจีนส่วนใหญ่ที่ตั้งขึ้นได้ไม่นานและขาดแคลนประสบการณ์พัฒนาตลาดในต่างชาตินั้น กว่าจะสร้างความได้เปรียบที่สำคัญ 2 ข้อดังกล่าวขึ้นมา และใช้ประโยชน์ได้อย่างคล่องตัวในระยะสั้นๆ แน่นอนอยู่แล้วว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
โดยเฉพาะวิสาหกิจจีนขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมาก ซึ่งกำลังแสวงหาโอกาสภายใต้ยุทธศาสตร์ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ยิ่งยากที่จะครองความได้เปรียบที่สำคัญเพื่อบุกเบิกตลาดในต่างประเทศ เพราะฉะนั้น พร้อมๆ ไปกับการเผยแพร่โครงการ "หนักๆ" ที่เป็นจุดแข็งของจีนไปยังประเทศตาม "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" นั้น รัฐบาลจีนต้องไม่ลืมให้น้ำหนักกับโครงการ "เบาๆ" เหล่านี้ให้มากเท่าที่จะทำได้ มุ่งใช้ความพยายามผลักดันอุตสาหกรรมค่อนข้าง "เบา" เช่น ภาพยนตร์โทรทัศน์ อาหารการกิน วัฒนธรรม แพทย์แผนจีนและยาสมุนไพร การเกษตรสมัยใหม่ และผลิตภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ให้ลุยออกไปตีตลาดในต่างประเทศด้วย
ด้วยเหตุที่โครงการ "เบาๆ" เหล่านี้ไม่มีภาระหนักอึ้งต้องแบกรับ เงื่อนไขประกอบการค่อนข้างต่ำ จึงสามารถดึงดูดวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมากยิ่งขึ้นให้เข้ามามีส่วนร่วม มิหนำซ้ำ โครงการเหล่านี้จะมีความคล่องแคล่วมากกว่าโครงการ "หนักๆ" ในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวลล้อมการลงทุนในต่างชาติ
สำหรับวิสาหกิจที่มุ่งสร้างความสำเร็จภายนอกประเทศ ขอเพียงทำการบ้านให้ดีกับความต่าง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ความแตกต่างทางภูมิศาสตร์(วัฒนธรรมกับภาษา ประเทศกับภูมิภาค เมืองกับชนบท) 2.ความแตกต่างทางประชากร(อายุ อาชีพและระดับการศึกษา) 3.ความแตกต่างทางจิตใจ(รูปแบบและสไตล์การดำรงชีวิต ค่านิยมและศาสนา) และ 4.ความแตกต่างทางพฤติกรรม(ความยึดติดในตัวสินค้า และอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค) ครองใจได้สักหนึ่งหรือสองกลุ่มในนี้ วิสาหกิจข้ามชาติใดๆ ก็สามารถตีตลาดสากลได้สำเร็จด้วยดี
ปัจจุบัน ไม่ว่าเสื้อผ้าหรือนาฬิกาแบรนด์เนมของยุโรป หรือไม่ก็ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ผลิต กลายเป็นสินค้าที่ขายดีไปทั่วโลก จนกระทั่งได้ฝังรากลึกลงไปในตลาดเกือบทุกประเทศแล้ว ล้วนเป็นแบบอย่างที่ประสบความสำเร็จจากการเตรียมพร้อมทำความเข้าใจอย่างดีในหนึ่งหรือสองกลุ่มที่กล่าวไป
ประเทศจีนต้องเลียนแบบประสบการณ์ของยุโรป ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ส่งเสริมให้อุตสาหกรรม "เบา" ลุยออกนอกประเทศ โดยเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์โทรทัศน์ และวัฒนธรรมอาหารการกิน ให้ไปพัฒนาในต่างแดนจนสำเร็จให้ได้ แล้วค่อยขับเคลื่อนโครงการ "เบา" อื่นๆ ร่วมกันบุกเบิกตลาดต่างชาติ หากขาดการเชื่อมโยงและผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศคู่ใดก็ตาม ต่อให้การแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคีได้รับผลคืบหน้าตามความต้องการพิเศษทางการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ก็ยังคงค่อนข้างเปราะบางและอ่อนแอ มีความเป็นไปได้ที่จะขาดสะบั้นลงได้ง่ายๆ