ในบริเวณใกล้ซื่อเมี่ยนจง มีร้านชาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเอกลักษณ์ร้านคือ ยิ่งถึงช่วงปลายหน้าหนาวและช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ธุรกิจของร้านชาแห่งนี้ก็ยิ่งเจริญคึกคัก เหตุผลก็เพราะลูกค้าในช่วงนี้ 90% เป็นคนที่มาเล่นว่าวที่ซื่อเมี่ยนจง ก่อนเล่น ผู้คนที่เดินทางไกลจากตัวเมืองชั้นในส่วนใหญ่เคยชินกับการดื่มชาและพักขาในร้าน สำหรับผู้เล่นที่วิ่งชักเอาสนุกจนพอใจแล้ว ก่อนกลับบ้านก็ชอบมากินชาดับความกระหายที่นี่เกือบทุกคน
ส่วนในกรณีที่ช่วงนั้นลมแรงหรือเบาเกินไปไม่เหมาะกับการเล่นว่าว คนเล่นก็จะนัดมานั่งชิมชาในร้าน พูดคุยรอจนสภาพลมอำนวยแล้วค่อยออกไปเล่นต่อ หากตั้งใจเล่นว่าวตัวใหญ่ขนาดยาว 3 – 4 เมตร หรือยาวกว่านั้น ถ้าไม่ได้นัดเพื่อนให้ครบสี่ห้าคนก็ไม่ต้องคิดถึงความสำเร็จเลย เพราะฉะนั้น ร้านชาแห่งนี้จึงกลายเป็นที่รอลูกทีมเล่นว่าวใหญ่ตัวยักษ์
ในบรรดาลูกค้าของร้านชา ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สนใจเล่นว่าวด้วยตนเอง แต่ชอบดูคนอื่นเล่น หรือชอบฟังผู้ที่รักการเล่นว่าวแบ่งปันประสบการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเล่นว่าว หรือเรื่องราวสนุกสนานในวงการศิลปะการแสดง เพราะถ้ามาดื่มชาในร้านนี้บ่อยๆ ก็ย่อมมีโอกาสพบหน้ากับดารางิ้วปักกิ่งชื่อดัง หรือไม่ก็นักประพันธ์เลื่องชื่อ กล่าวได้ว่า ในฤดูกาลเล่นว่าวของทุกปี ในร้านชาแห่งนี้แทบจะไม่มีที่นั่งว่าง
สิ่งที่น่าสนใจคือ ร้านชาแห่งนี้นำเสนอบริการพิเศษในการเก็บและดูแลว่าวของลูกค้าขาประจำ โดยเฉพาะว่าวขนาดใหญ่ที่เอากลับบ้านไม่สะดวก ซึ่งเถ้าแก่จะไม่เก็บค่าฝากว่าวที่ร้าน แม้ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมกับการเล่นว่าว โดยจะขออนุญาตเจ้าของว่าวที่รูปทรงและสีสันสวยงาม นำว่าวไปแขวนประดับบนผนังทั้งสี่ด้านในร้าน ที่นี่จึงกลายเป็นเสมือนห้องแสดงว่าว เป็นแนวคิดจูงใจลูกค้าเข้าร้านตลอดทั้งปี เพราะชิมชาที่นี้ก็สามารถชมนิทรรศการว่าวฟรี
ในช่วงปลายทศวรรษ 1930 เนื่องจากทหารญี่ปุ่นบุกรุกเข้ามารุกรานจีน ตลาดและตรอกซอกซอยที่เดิมทีคึกคักมาก ส่วนใหญ่เปลี่ยนโฉมให้เหลือแต่ความซบเซา ชาวบ้านตกอยู่ในชีวิตที่เดือดร้อน จำนวนคนที่ไปเล่นว่าวจึงลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ภายหลังสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้นมา สิ่งก่อสร้างต่างๆ นานาถูกสร้างขึ้นมาตามแผนผังเมืองใหม่ โดยเฉพาะบ้านพักอาศัยที่รองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พื้นที่ว่างเปล่าที่ชื่อว่า ซื่อเมี่ยนจง จึงค่อยๆ สูญหายไป ฉากที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยเพลิดเพลินกับว่าวหลากหลายรูปลักษณ์จึงถูกฝังไว้ในความทรงจำของชาวปักกิ่ง
ถ้าพูดถึงเรื่องราวเล่นว่าวของชาวปักกิ่งในอดีต ก็ไม่ควรพลาดว่าวยักษ์ 2 ตัวที่ขึ้นชื่อในกลุ่มคนเล่นแถวๆ หอนาฬิกาซื่อเมี่ยนจง นั่นก็คือ ว่าวรูปปลาดุกตัวเบ้อเริ่มสีเหลืองกับสีเขียวที่ผลิตโดยร้านว่าวฮาจี้(ตระกูลฮา)ที่ขึ้นชื่อในปักกิ่ง ส่วนเจ้าของว่าว 2 ตัวนี้คือกรรมการร้านยาเลื่องชื่อ "ถงเหรินถาง" โดยว่าวปลาดุก 2 ตัวนี้เป็นสุดยอดผลงานของฮา กั๋วเหลียง ผู้สืบทอดฝีมือการทำว่าวของตระกูลฮา เฉพาะหัวปลาดุกก็ใหญ่เกิน 2.6 เมตร ขณะที่ตัวปลายาวถึง 33.3 เมตร นับเป็นว่าวขนาดใหญ่ที่สุดที่บินบนฟ้าได้ในสมัยนั้น