หนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้ารายงานว่า กระทรวงคมนาคมจีนแถลงข่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า ในช่วงกว่า 3 ปีหลังยื่นข้อเสนอ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" จีนกับบรรดาประเทศตาม "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทั้งทวิภาคีและระดับภูมิภาคกว่า 130 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมถึงทั้งการขนส่งทางรถไฟ ทางหลวง ทางเรือ การบินและการไปรษณีย์เป็นต้น การพัฒนาโครงการในทุกด้านได้รับความก้าวหน้าอย่างแข็งขัน นับได้ว่าการสร้างสรรค์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางบังเกิดผลสำเร็จเบื้องต้น
ตามข้อมูลสถิติล่าสุด จีนใช้ด่านทางบกและท่าเรือ 73 แห่ง เปิดเส้นทางการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างประเทศจำนวน 356 สาย โดยเครือข่ายขนส่งทางทะเลได้ครอบคลุมถึงทุกประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และเปิดเส้นทางการบินโดยตรงกับ 43 ประเทศตามหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง พร้อมให้บริการเที่ยวบินไปกลับสัปดาห์ละประมาณ 4,200 เที่ยว นอกจากนั้นยังปรับปรุงขั้นตอนการขนส่งทางรถไฟระหว่างประเทศให้ทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น ส่งเสริมการขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับประเทศยุโรป และการนำส่งไปรษณียภัณฑ์ด้วยรถไฟข้ามชาติ ในด้านการสร้างทางรถไฟนั้น ทางรถไฟจีน-ลาวมีจุดเริ่มต้นที่เมืองคุนหมิง ผ่านเมืองอี้ว์ซีและต่อเชื่อมกับทางรถไฟในลาวที่ด่านบ่อหาน มีความยาวทั้งหมด 600 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟระหว่างประเทศที่สำคัญของจีนสู่ลาวกับไทย ปัจจุบัน ทางรถไฟช่วงคุนหมิง-อี้ว์ซีเปิดให้บริการแล้ว ขณะที่ช่วงอี้ว์ซี-บ่อหานกำลังก่อสร้างอยู่ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์และให้บริการก่อนปี 2020
ขณะนี้ ภายใต้ความพยายามของจีนกับทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง โครงสร้างพื้นฐานหลักๆ เช่น ทางหลวง 2 สายของ "ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน" ทางรถไฟความเร็วสูงกรุงจากาตาร์-เมืองบันดุง ทางรถไฟจีน-ไทย ทางรถไฟในภาคใต้มาเลเซีย มีทั้งกำลังก่อสร้างอย่างเป็นระเบียบและเปิดใช้งานแล้ว ในปี 2016 จีนกับประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางลงนามโครงการรับเหมาก่อสร้างใหม่ทั้งหมด 8,158 โครงการ วงเงินมากถึง 126,030 ล้านหยวน
ในด้านพัฒนาการขนส่งทางทะเล การสร้างสรรค์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนำโอกาสใหญ่หลวงอย่างไม่เคยมีมาก่อนให้กับท่าเรือเมืองเซี่ยเหมิน จนถึงปลายเดือนธันวาคมปี 2016 ที่นี้เปิดเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศทั้งหมด 87 สาย ท่าเรือเซี่ยเหมินกับ 11 ท่าเรือในต่างประเทศจับคู่เป็นท่าเรือพี่น้อง จึงได้ขับเคลื่อนการสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 อย่างมีพลัง
YF