วันเสาร์ที่สองของมิถุนายนเป็นวันมรดกโลกทางวัฒนธรรมของจีน ถ้าเล่าถึงมรดกโลกทางวัฒนธรรม สถานที่ทางประวัติศาสตร์ของไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโก ให้เป็นแหล่งมรดกโลกมี 3 แห่งได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
ปี 1987 หรือกว่า 30 ปีก่อน กำแพงเมืองจีน พระราชวังต้องห้าม ภูเขาไท่ซาน แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีมนุษย์ปักกิ่ง-โจวโข่วเตี้ยน สุสานฉินซี และถ้ำโม่เกาแห่งตุนหวงต่างก็ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโก ซึ่งนั่นก็ทำให้จีนมีแหล่งมรดกโลกเป็นครั้งแรก
สำหรับวันนี้และวันพรุ่งนี้ เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมรดกโลกทางวัฒนธรรม 6 แห่งแรกของประเทศจีนดังต่อไปนี้
วันมรดกโลกทางวัฒนธรรมจีน--สุสานฉินซี
สุสานฉินซีได้ค้นพบโดยบังเอิญเมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2517 โดยชาวนาในหมู่บ้านซีหยาง ชื่อ หยางจื้อฟา ในขณะที่ขุดดินเพื่อทำบ่อน้ำ บริเวณเชิงเขาหลีซาน ห่างจากตัวเมืองซีอาน ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 35 กม. โดยในระหว่างที่ขุดนั้น ก็บังเอิญพบกับซากของทหารดินเผา ที่ทราบภายหลังว่ามีอายุมากกว่า 2,000 ปี
ปัจจุบัน รัฐบาลจีนขุดค้นพบวัตถุโบราณที่เป็นกองทัพทหารดินเผา สรรพาวุธ รถม้าและม้าศึก จำนวนทั้งสิ้นกว่า 7,400 ชิ้น ภายในบริเวณพื้นที่หลุมสุสานกว่า 25,000 ตร.ม. มีการคาดคะเนว่า อาณาเขตของสุสานฉินซีจะมีพื้นที่มากกว่า 2,180 ตร.กม. สุสานฉินซีได้รับการคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี พ.ศ. 2530
สุสานฉินซีเริ่มก่อสร้างในสมัยราชวงศ์ฉิน ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 38 ปี ตั้งแต่ปี 246 - 208 ก่อนคริสตกาล ซึ่งอาณาเขตพื้นที่ของสุสานรวมทั้งสิ้น 2,180 ตร.กม. แบ่งออกเป็นพระราชฐานชั้นในและพระราชฐานชั้นนอก ภายในสุสานใช้บรรจุพระบรมศพของฉินซีฮ่องเต้ ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ตลอดจนกองกำลังทหาร นางสนมและนางกำนัล รถม้าและขุนพลทหาร จำนวนมาก เพื่อเป็นตัวแทนของข้าราชบริพารในการร่วมเดินทางไปยังปรโลกของฉินซีฮ่องเต้
สำหรับภายใน ในส่วนที่ก่อสร้างจากหินนั้นยังคงได้รับการปิดผนึกอย่างดีโดยคงสภาพเดิมเอาไว้ และไม่เคยผ่านการขุดและรื้อทำลายมาก่อน โดยโครงสร้างของสุสานดังกล่าว มีรูปแบบโครงสร้างและการจัดสร้างที่มีความสลับซับซ้อน ขนาดของสุสานมีขนาดมหึมา ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติของจักรพรรดิจีนผู้รวบรวมประเทศจีนให้เป็นปึกแผ่น
Yim/Patt