เมื่อเร็วๆ นี้ การประชุมฟอรั่มเศรษฐกิจโลกครั้งที่ 11 หรือการประชุมดาวอสฤดูร้อนจัดขึ้นที่เมืองต้าเหลียนของจีน นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนร่วมการประชุมดังกล่าว และกล่าวเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และรูปแบบการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในอนาคต โดยเห็นว่าความต้องการภายในประเทศกลายเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่สำคัญที่สุด
นายหลี่ เค่อเฉียงกล่าวในที่ประชุมว่า "เกี่ยวกับอุตสาหกรรมใหม่ รูปแบบใหม่ เช่น อีคอมเมิร์ส การชำระเงินผ่านมือถือ จักรยานเช่าสาธารณะ จีนใช้มาตรการควบคุมดูแลอย่างยืดหยุ่นเพื่อสร้างหลักประกันให้ธุรกิจเหล่านี้พัฒนาอย่างเป็นปกติ เพราะธุรกิจเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างตำแหน่งงานจำนวนมากแบบคาดไม่ถึง หากยังทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนสะดวกสบายขึ้น ตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว มี 70% มาจากธุรกิจรูปแบบใหม่เหล่านี้"
นายหลี่ เค่อเฉียงกล่าวว่า "การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ภูมิหลังแห่งโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว กว้างขวางและลึกซึ้งชนิดไม่เคยมีมาก่อน และสร้างโอกาสการพัฒนาให้กับเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ด้วย ทว่าถ้าเราใช้มาตรการที่ไม่ถูกต้อง ก็จะเกิดปัญหาสร้างอุปสรรคให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ" เขากล่าวว่า "เมื่อเทียบกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านๆ มา การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่จะทำให้เกิดการเติบโตที่เปิดกว้าง"
ในที่ประชุมครั้งนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 กลายเป็นประเด็นร้อนที่ผู้ร่วมประชุมอภิปรายกัน ซึ่งการปฏิวัติครั้งที่ 4 นี้จะมีอิทธิพลอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลกและชะตากรรมของมนุษย์เป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก
นายหลี่ เค่อเฉียงกล่าวว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้มีเนื้อหาหลักว่า อินเตอร์เน็ต ระบบดิจิตอล และระบบอัจฉริยะ ไม่เพียงแต่สร้างอุปทานกับความต้องการใหม่ หากยังเพิ่มโอกาสการพัฒนา และได้สร้างโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ร่วมการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเกือบทุกคนสามารถสร้างธุรกิจเองได้โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
เมื่อกล่าวถึงประเด็นว่า หุ่นยนต์จะแย่งชิงตำแหน่งงานของมนุษย์หรือไม่ นายหลี่ เค่อเฉียงระบุว่า แม้ว่าบางอุตสาหกรรมอาจจะเกิดปัญหาแบบนี้ แต่ภายใต้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่นี้ จะระดมสมองมากขึ้น ทรัพย์สินและตำแหน่งงานที่สร้างขึ้นใหม่จะมากกว่าที่เราสูญหายไปอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นปัญหาปรับโครงสร้างหรือว่าเป็นปัญหาที่ต้องปรับการอบรมเทคนิค
(Yim/cici)