ในภาคเหนือของจีน เมื่อย่างเข้าเทศกาลเสียวเสวี่ย ที่หมายถึงว่าหิมะเริ่มตกแล้ว ส่วนใหญ่จะรับประทานหม้อไฟ โดยเฉพาะเนื้อแพะ เนื่องจากในช่วงเวลานี้ แสงแดดไม่พอ ความสว่างไม่พอ บางทีจะทำให้เกิดโรคซึมเศร้า จึงต้องรับประทานอาหารที่สามารถบำรุงสุขภาพ เช่น เนื้อแพะ เนื้อวัว เนื้อไก่ และอาหารที่บำรุงตับ เช่น มะม่วงหิมพานต์ เชี่ยนสือ ซานเย่า เกาลัด เป่กั๊ว ถั่ววอลนัต(มันฮ่อ) เป็นต้น
ในภาคเหนือ มีประเพณีที่จะจัดทำเนื้อสัตว์ให้เป็นของแห้งเพื่อเก็บไว้เป็นเสบียงรับประทานในหน้าหนาว หลังจากผ่านวันเทศกาลเสียวเสวี่ยแล้ว อุณหภูมิจะลดลงอย่างรวดเร็ว อากาศจะแห้งมาก จึงเหมาะกับการแปรรูปเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งชาวบ้านจะเตรียมตัวทำกุนเชียง เนื้ออบ ปลาแห้ง เป็นต้น
ในภาคใต้ มีประเพณีกิน "ฉือปา" ในเดือน10 ตามจันทรคติจีน โดยนำข้าวเหนียวมานึ่งสุกก่อน แล้วทุบให้กลายเป็นแป้งเหนียว นับเป็นอาหารยอดนิยมในบางพื้นที่ภาคใต้ แรกเริ่มใช้เป็นของไหว้บูชาพระเจ้าวัว แล้วค่อยๆ แปรเปลี่ยนมาเป็นอาหารพื้นเมืองที่แพร่หลายเป็นที่นิยมกัน
ในเกาะไต้หวัน ชาวประมงจะเริ่มตากปลาแห้ง เนื่องจากเวลานี้ มีปลาบางชนิดจะอพยพจากทางเหนือลงมาทางใต้เพื่อวางไข่ จึงเป็นช่วงที่เนื้อปลาจะมีรสชาติกำลังอร่อยเต็มที่ ซึ่งชาวประมงไต้หวันพอจับปลาขึ้นมาแล้ว จะทำเป็นปลาแห้ง สามารถเก็บไว้รับประทานได้จนถึงปีหน้า
แต่ความคึกคักในการฉลองเทศกาลเสียวเสวี่ยนั้น ที่ไหนก็สู้ชนเผ่าถู่เจียไม่ได้ ชนเผ่าถู่เจียจะมีการต้อนรับปีใหม่ในเทศกาลเสียวเสวี่ย โดยมีการฆ่าสัตว์เพื่อนำมาทำเป็นอาหารทานฉลองกัน และต้มซุปอร่อยแจกจ่ายให้กับญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านทุกคน โดยมีชื่อเฉพาะเรียกว่า "เปาทัง" หมายถึง ซุปและอาหารที่ทำจากเนื้อหมูสดๆ ที่เพิ่งฆ่าในวันนั้น แสดงให้เห็นถึงการให้เกียรติกับแขกที่เชิญมา
Yim/Ping