ที่ราบสูงทิเบต อยู่ทางภาคตะวันตกของจีน มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 3,000 - 5,000 เมตร ถูกเรียกเป็น "หลังคาโลก" มีพื้นที่ประมาณ 2,500,000 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำแยงซี แม่น้ำเหลือง แม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และแม่น้ำคงคา เป็นต้น
พร้อมๆ กับที่วิถีชีวิตของประชาชนในทิเบตเปลี่ยนแปลงไป เป็นแบบทันสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย จนเป็นแรงกดดันและภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น จึงมีกลุ่มคนใช้ความพยายามของตนเพื่ออนุรักษ์ภาวะแวดล้อมของทิเบตเพิ่มมากขึ้นด้วย
เมืองเก๋อเอ่อมู่ หรือกอลมุด(Golmud city) เป็นภาษามองโกล มีความหมายว่า พื้นที่ที่มีแม่น้ำมากมาย อยู่ในมณฑลชิงไห่ บนที่ราบสูงทิเบต เป็นเมืองสำคัญที่ติดต่อทั้งเขตซินเจียงและที่ราบสูงทิเบต เป็นสถานีสำคัญระหว่างทางหลวงซิงไห่-ทิเบตและทางรถไฟสายชิงไห่-ทิเบต
ขับรถออกจากตัวเมืองเก๋อเอ่อมู่ เดินทางกว่า 10 นาที ก็จะถึงเก๋อเอ่อมู่อี้ ซึ่งเป็นจุดพักที่เรียกว่า จุดพักสีเขียว(绿色驿站) ซึ่งร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยฝ่ายบริหารท้องถิ่น กองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจงหวา กองทุนช่วยเหลือผู้ยากจนของจีนตลอดจนกองทุนอนาคตใหม่ของบริษัทรถยนต์ FAW-VOLKSWAGEN ของจีน ตามแผน จะสร้างสถานีพักสีเขียวแบบนี้ 18 แห่งตามทางหลวงจากเมืองเก๋อเอ่อมู่ถึงเมืองลาซาที่มีระยะทางยาว 1,140 กิโลเมตร โดยองค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภาคเอกชน "ลี่ว์เซ่อเจียงเหอ(绿色江河)" เป็นผู้ดูแลและประกอบการ
หน้าที่หลักของสถานีพักดังกล่าวคือเก็บขยะ และเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับคนขับรถบรรทุกระยะไกล นักท่องเที่ยวที่ขับรถเที่ยวเอง ชาวปศุสัตว์ในท้องถิ่น ก็สามารถใช้ขยะไปแลกของใช้ประจำวันในสถานีได้ด้วย มีผู้ดูแลสถานีส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ซึ่ง 365 วันตลอดทั้งปีจะไม่มีวันขาดผู้อาสาสมัคร แต่ละคนทำงานครั้งละ 1 เดือน
ในสถานีพักเก๋อเอ่อมู่ มีตู้คอนเทนเนอร์ใหญ่ 5 ตู้ ถังขยะกว่า 10 ถัง แยกรับขยะ เช่น ขวดแก้วและขวดพลาสติก โดยตู้คอนเทนเนอร์ 3 ตู้ใช้สำหรับขยะที่แยกแล้ว อีกหนึ่งตู้ใช้รองรับขยะจากคนขับรถและนักท่องเที่ยว ส่วนอีกตู้หนึ่งเก็บเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ นอกจากนี้ ในสองข้างของสถานี ยังมีตู้คอนเทนเนอร์อีก 2 ตู้ ตู้หนึ่งเป็นห้องน้ำ อีกตู้ที่มีเนื้อที่ไม่ถึง 10 ตารางเมตร สำหรับวางเตียงนอน 3 เตียง เป็นห้องพักของอาสาสมัคร และข้างๆ ห้องพักนี้ จะมีห้องเล็กที่วางเตาแก็สและอาหาร เรียกว่าเป็นห้องครัวก็ได้