นอกจากมีคนเดินทางตามทางหลวงสายชิงไห่-ทิเบตทิ้งขยะแล้ว การที่ชาวปศุสัตว์เปลี่ยนวิถีชีวิตก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ที่ราบสูงทิเบตมีปัญหาขยะมากขึ้นด้วย
นายซือฉิวไฉเหริน หนุ่มทิเบต ปีนี้อายุ 30 ปี เขาเล่าว่า เมื่อปี 2001 มีชาวปศุสัตว์จำนวนมากอพยพจากทุ่งหญ้ามาอาศัยอยู่ในตำบลถังกู่ลาซาน ที่อยู่ใต้ภูเขาถังกู่ลา ตำบลนี้เป็นตำบลของชาวทิเบต ซึ่งชาวปศุสัตว์ก็รักษาประเพณีที่รักสัตว์และทุ่งหญ้า แต่เนื่องจากอยู่ในเขตชุมชน จึงเกิดขยะจากการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ
สองฝั่งแม่น้ำถัวถัวเหอ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำสายใหญ่หลายสายรวมถึงแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำเหลือง เป็นเขตที่ชาวบ้านท้องถิ่นกำจัดขยะ นายซือฉิวไฉเหรินบอกว่า ในระยะทางสั้นๆ เพียง 1 กิโลเมตรนั้น เคยมีกองขยะสูงถึง 2 เมตร เทศบาลท้องถิ่นและทีมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้ชาวบ้านสนใจปัญหาขยะ เมื่อปี 2001 นายซือฉิวไฉเหรินกับเพื่อนๆ เคยเข้าร่วมงานเผาและฝังขยะริมสองฝั่งแม่น้ำ และปีเดียวกัน นายหยาง ซิน อาสาสมัครอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงของจีน ผู้จัดตั้ง "ทีมอนุรักษ์แม่น้ำแยงซีที่ 1" เดินทางถึงโรงเรียนประถมถังกู่ลาซาน สอนให้เด็กท้องถิ่นร่วมกันอนุรักษ์ลุ่มแม่น้ำถัวถัวเหอ
ปัจจุบัน บนที่ราบสูงทิเบตมีการใช้ระบบ "ใช้ขยะแลกอาหาร" ชาวปศุสัตว์สามารถเก็บขยะที่กระจายไปทั่วเขตเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะขยะที่ใช้หมุนเวียนไม่ได้และขยะที่เป็นพิษ เช่น ถุงพลาสติก ส่งไปที่สถานีอนุรักษ์ ก็จะแลกอาหารและของใช้ประจำวันต่างๆ ได้ เช่น ข้าวสาร เครื่องดื่ม น้ำมันปรุงอาหารเป็นต้น เว็บไซต์ลี่ว์เซ่อเจียงเหอประกาศว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2012 ถึงสิ้นปี 2014 ได้รับขวดพลาสติก กระป๋องโลหะและแบตเตอรีจากชาวปศุสัตว์ถึงกว่า 84,600 ชิ้น ขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ประมาณ 2,000 กิโลกรัม ปี 2015 ทั้งปี ใช้อาหารแลกขยะประเภทขวดพลาสติกและกระป๋องโลหะ 37,146 ชิ้น กระดาษมากถึงรถกระบะ 3 คัน