พิธีเปิดการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 10 มกราคมนี้ ผู้นำประเทศสมาชิก 6 ประเทศได้แก่ จีน ไทย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามเดินทางไปร่วมประชุมครั้งนี้ ช่วงการประชุม จะมีการลงนามเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ในแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี โดยมีเป้าหมายในหลายด้าน เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ลดช่องว่างการพัฒนาภายในภูมิภาค สร้างชุมชนแห่งสันติภาพ และร่างปฏิญญาพนมเปญเกี่ยวกับการเสริมสร้างความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน ร่วมถึงด้านอื่นๆ เพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง
กรอบความร่วมมือ แม่น้ำโขง-ล้านช้างก่อตั้งขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้น คือเมื่อปี ค.ศ. 2012 นายกรัฐมนตรีไทยได้เสนอแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่กรุงเทพฯ แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกทุกประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีนได้มีบทบาทที่สำคัญในการผลักดันการก่อตั้งกรอบความร่วมมือนี้ การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 จัดที่เมืองซานย่า มณฑลไหหนาน ทางภาคใต้ของประเทศจีนเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ปี 2016 ที่ประชุมได้กำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจและสร้างพลวัตในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นประโยชน์เท่าเทียมกันแก่ทุกประเทศสมาชิกและประชาชน เป้าหมายที่สำคัญของกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้างจึงมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกและระหว่างประเทศสมาชิกกับประเทศนอกภูมิภาค
กรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้างจะดำเนินการภายใต้ 3 สาขาที่ครอบคลุมด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงสังคม วัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน สอดคล้องกับสามเสาหลักของอาเซียน และเชื่อมั่นว่า กรอบความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้มแข็งแก่อนุภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน
กรอบความร่วมมือใหม่นี้ยังจะเพิ่มคุณค่าต่อกรอบความร่วมมืออื่นๆ ที่มีอยู่ ผู้นำ 6 ประเทศที่ร่วมประชุมเห็นพ้องกันว่า คุณค่าเพิ่มสำคัญประการหนึ่ง คือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อมนุษยธรรมและผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำภายใต้กรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้างจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ประเทศสมาชิกเห็นพ้องว่า จะเร่งกำหนดแผนการทำงานของศูนย์นี้อย่างชัดเจน มีระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยเชื่อมโยงกับศูนย์บริหารจัดการน้ำในแต่ละประเทศ รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถ และวิจัยร่วมกัน
นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกตกลงกันว่า จะเน้นสาขา 5 ด้าน ได้แก่ ความเชื่อมโยง ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการผลิต ความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การเกษตรและการลดความยากจนในระยะแรกของการก่อตั้งกรอบ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ปรากฏอย่างชัดเจนในปฏิญญาและแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิต ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง- ล้านช้าง ครั้งที่ 1 เช่นเดียวกับรายการโครงการเร่งด่วนของสมาชิกทุกประเทศที่พร้อมดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและยังประโยชน์ที่เท่าเทียมแก่ประเทศสมาชิก โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานรายสาขา เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการและติดตามความคืบหน้าให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในภาพรวมด้วย