จีนกับขั้วโลกใต้
  2018-05-08 09:38:27  cri

ขั้วโลกใต้ภาษาจีนออกเสียงว่า "หนานจี๋" ซึ่งออกเสียงเดียวกันกับคำที่มีความหมายว่า "ยากที่จะไปถึง" จีนห่างจากทวีปขั้วโลกใต้กว่า 17,500 กิโลเมตร พื้นที่ของขั้วโลกใต้คิดเป็น 1.45 เท่าของจีน

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 1984 จีนจัดส่งทีมสำรวจทางวิทยาศาสตร์ทีมแรกที่ประกอบด้วยเกือบ 600 ชีวิต เดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ และได้สร้างสถานีวิจัยฉางเฉิง (Great Wall) ซึ่งเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของจีนบนเกาะจอร์ช (George) ของขั้วโลกใต้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1985 สถานีวิจัยฉางเฉิงมีพื้นที่ 2.5 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยอาคารถาวร 10 อาคาร สามารถรองรับคณะสำรวจได้ 60 คน ในฤดูร้อน และ 20 คนในฤดูหนาว

สถานีวิจัยวิทยาศาสตร์บนขั้วโลกใต้แบ่งเป็น 3 อย่าง ได้แก่ สถานีประจำ สถานีฤดูร้อน และสถานีสังเกตุการอัตโนมัติ ปัจจุบัน จีนมีสถานีวิจัยบนขั้วโลกใต้รวม 4 แห่ง ในจำนวนนี้ สถานีฉางเฉิง และ สถานีจงซานเป็นสถานีประจำ ส่วนสถานีคุนหลุน และ สถานีไท่ซาน เป็นสถานีวิจัยเฉพาะฤดูร้อน ปัจจุบัน จีนกำลังจะเริ่มโครงการก่อสร้างสถานีวิจัยแห่งใหม่ในภาคพื้นทวีปขั้วโลกใต้ ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2022 และเป็นฐานการทดลองทางวิทยาศาสตร์แห่งที่ 5 ของจีนในดินแดนขั้วโลกใต้ จนถึงต้นปี 2018 จีนได้จัดส่งทีมสำรวจขั้วโลกใต้รวมแล้ว 34 ครั้ง และในทวีปขั้วโลกใต้มีสถานที่กว่า 300 แห่งตั้งชื่อด้วยภาษาจีน

เมื่อปี 1979 รัฐบาลออสเตรเลียเชิญนักวิทยาศาสตร์จีน 2 คนไปร่วมคณะสำรวจของออสเตรเลีย โดยใช้เวลาทำวิจัยที่ทวีปขั้วโลกใต้เป็นเวลา 2 เดือน นายต่ง เจ้าเฉียน นักวิทยาศาสตร์ด้านฟิสิกส์มหาสมุทร จากสำนักงานมหาสมุทรแห่งชาติจีน และ นายจาง ชิงซง นักวิจัยสถาบันวิจัยภูมิศาสตร์ ของสภาวิทยาศาสตร์จีน ได้รับเลือกเป็นผู้แทนจีนที่ได้มีโอกาสได้ไปสำรวจทวีปขั้วโลกใต้เป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ 12 มกราคม ปี 1980 นายต่ง เจ้าเฉียน และ นายจาง ชิงซง โดยสารเครื่องบินจากเมืองไครสต์เชิร์ชของนิวซิแลนด์ ไปยังสถานีแมคเมอร์โด (McMurdo) ชุมชนที่ใหญ่ที่สุดของขั้วโลกใต้ที่สหรัฐอเมริกาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1957 นับเป็นชาวจีนกลุ่มแรกที่มีโอกาสเหยียบดินแดนขั้วโลกใต้

นอกจากติดตามนักวิจัยออสเตรเลียไปทำงานวิจัยแล้ว นักวิทยาศาสตร์จีน 2 คนนี้ ยังมีโอกาสเยี่ยมเยียนสถานีวิจัยของสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และ ฝรั่งเศสด้วย

นายต่ง เจ้าเฉียน เล่าย้อนความทรงจำว่า ตอนที่เพิ่งลงมาจากเครื่องบิน และ ย่ำเท้าลงบนดินแดนขั้วโลกใต้ ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก ถ่ายรูปเป็นจำนวนมาก แป๊ปเดียว ฟิล์มก็หมดไป 3 ม้วน อีกทั้งยังได้ถ่ายวิดีโออีกด้วย ก่อนเดินทางไปทวีปขั้วโลกใต้ ช่างภาพจากโรงภาพยนตร์สารคดีกลางของจีนได้จัดการฝึกอบรมให้ผมเป็นเวลา 3 วัน ผมจึงได้ใช้เทคนิคอันจำกัดที่ได้เรียนมาไปทดลองใช้ที่ขั้วโลกใต้ ต่อมาวิดีโอ และ ภาพถ่ายที่ผมถ่ายมาจากขั้วโลกใต้ได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของสารคดีเรื่อง "สำรวจขั้วโลกใต้เบื้องต้น" ซึ่งเป็นสารคดีเรื่องแรกเกี่ยวกับขั้วโลกใต้ของจีน

ขณะพูดถึงความประทับใจในการสำรวจขั้วโลกใต้เป็นครั้งแรก นายจาง ชิงซง เล่าให้ฟังว่า ประทับใจในไมตรีจิต และ มิตรภาพของทางออสเตรเลียเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งฝ่ายออสเตรเลียเอง ก็ได้จัดการอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งปกติแล้ว นักวิจัยออสเตรเลียมักจะเดินทางด้วยเรือทั้งขาไป และ ขากลับ แต่ฝ่ายออสเตรเลียจัดให้เรา 2 คน โดยสารเครื่องบินในขาไป ซึ่งจะสบายกว่าการเดินทางทางเรือ เพราะว่าเรือตัดน้ำแข็งรุ่นก่อนนั้น จะฉีดน้ำเพื่อละลายน้ำแข็งจากนั้นจึงพุ่งชน แต่เมื่อต้องเผชิญกับน้ำแข็งที่หนากว่าปกติ จึงทำให้การเดินทางล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ การตัดน้ำแข็งแต่ละครั้งจะแหวกน้ำแข็งออกได้เพียง 20 เมตร และวันหนึ่งการล่องเรือผ่านผืนน้ำที่เป็นน้ำแข็งจะทำได้เพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น เหมือนเป็นเรือลอยอยู่นิ่ง ๆ บนทะเลน้ำแข็ง

นายจาง ชิงซง เล่าให้ฟังว่า ตอนขากลับ เราได้โดยสารเรือ ระหว่างทาง เราได้เผชิญมรสุมอันรุนแรง คลื่นยักษ์สูงถึง 20 เมตร ความเร็วลมสูงถึง 40 เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้เรือโยก และ เขย่าอย่างรุนแรง การลุกขึ้นยืนกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก อย่าว่าแต่การเดิน เพียงแค่การนอนบนเตียง ยังทำให้เวียนหัวมาก รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียนอย่างต่อเนื่อง แกว่งไปมาบนเตียงจนทำให้ผิวหนังที่หลังฟกช้ำ และได้รับบาดเจ็บด้วย ความรู้สึกตอนนั้นทรมานเหมือนกำลังจะตาย

ถึงแม้ว่าการทำงานที่ขั้วโลกใต้เสี่ยงท้าทาย และทรมาน แต่ด้วยความมุ่งมั่นในงานวิจัยทวีปขั้วโลกใต้ ปีเดียวกัน นายจาง ชิงซง ได้เดินทางไปทำงานที่ขั้วโลกใต้อีก

การเดินทางครั้งนี้ห่างจากครั้งที่แล้วเป็นเวลาเพียงครึ่งปีเอง คราวนี้ นายจาง ชิงซง เดินทางมาถึงสถานีวิจัยของออสเตรเลียอีก เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์การก่อตั้ง และ การบริหารสถานีวิจัยขั้วโลกใต้ โดยทำงานที่นั่นเป็นเวลา 11 เดือนครึ่ง กลายเป็นคนจีนคนแรกที่ได้ผ่านฤดูหนาวที่ขั้วโลกใต้ ระหว่างการสำรวจ และ วิจัยครั้งนี้ นายจาง ชิงซง ได้เก็บตัวอย่าง และ ข้อมูลอันล้ำค่าเป็นจำนวนมาก ไปจนถึงได้ปูพื้นฐานงานวิจัยขั้วโลกใต้ของจีนในเบื้องต้น

ในเดือนตุลาคม ปี 1984 นายต่ง เจ้าเฉียน และ นายจาง ชิงซง ในฐานะเป็นรองผู้อำนวยการทีมสำรวจขั้วโลกใต้ทีมแรกของจีน เดินทางไปยังขั้วโลกใต้อีก เพื่อประสานงานการก่อตั้งสถานีวิจัยฉางเฉิง สถานีวิจัยแห่งแรกของจีนในขั้วโลกใต้

ต่อมาภายหลัง นายจาง ชิงซง ได้เดินทางไปยังขั้วโลกใต้อีก 2 ครั้ง ส่วนนายต่ง เจ้าเฉียนได้เคยไปทำงานที่ขั้วโลกใต้เป็นเวลา 6 ครั้งตามลำดับ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040