ทุกคนคงยอมรับตรงกันว่า การอ่านหนังสือมีบทบาทสำคัญต่อการยกระดับจิตใจของประชาชนให้สูงขึ้นด้วย ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ถืออัตราการอ่านหนังสือของประชาชนเป็นดัชนีประเมินผลที่สำคัญประการหนึ่ง ซึ่งที่จีนมีรายงานผลของศูนย์ทำสำรวจและรวบรวมสถิติมหาวิทยาลัยประชาชนจีนแสดงว่า ปี 2017 63% ของชาวจีนในวัย 18 ปีขึ้นไปไม่ได้อ่านหนังสือกระดาษและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เลยแม้แต่เล่มเดียว นับเป็นเรื่องที่น่ากังวลในระดับหนึ่ง
สังเกตได้ว่า ทุกวันนี้มีคนที่ก้มหน้าก้มตาดูมือถือจำนวนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน แต่พวกวัยรุ่น ซึ่งกำลังอยู่ช่วงอายุที่ควรอ่านหนังสือเป็นจำนวนมาก อ่านหนังสือเท่าใดกันแน่?และนิยมอ่านหนังสือแบบไหน?เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาจริงๆ
สถิติแสดงว่า นักเรียนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมต้นเรียนรู้ตัวอักษรจีนที่ใช้บ่อยได้เกือบทั้งหมด และมีความสามารถในการอ่านหนังสือทั่วไปได้แล้ว ดังนั้น สำหรับเยาวชนในวัย 18 ปี ระดับการรู้หนังสือจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่กระทบต่อการอ่านหนังสือแล้ว แต่ปัจจัยสำคัญในช่วงดังกล่าวคือ แหล่งทรัพยากรการอ่าน และความเคยชินในการอ่าน เป็นต้น
ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ศูนย์ทำสำรวจและรวบรวมสถิติมหาวิทยาลัยประชาชนจีนได้ทำแบบสำรวจด้านการศึกษา(CEPS) ต่อนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวน 10,279 คนในโรงเรียน 112 แห่งทั่วประเทศ ผลปรากฏว่าถึงปี 2017 หลังจากนักเรียนเหล่านี้จบการศึกษาระดับมัธยมต้นครบ 1 ปีแล้ว ในจำนวนนี้ 62.5% เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย 26.3% เข้าเรียนในโรงเรียนวิชาชีพ และอีก 11.2% ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อหางานทำ
นักเรียนที่เข้าร่วมตอบสำรวจกลุ่มนี้เกิดในปี 2000-2001 สภาพการอ่านหนังสือของนักเรียนเหล่านี้ภายใน 1 ปีหลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมต้น สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการอ่านหนังสือของเยาวชนรุ่นนี้ของจีนในขั้นพื้นฐานได้ และอาจบ่งบอกแนวโน้มการพัฒนาของการอ่านหนังสือขั้นพื้นฐานของชาวจีนในอนาคต
ผลสำรวจพบว่า ในรอบปี 2017 ผู้ตอบสำรวจเหล่านี้ 12.2% ไม่ได้อ่านหนังสือใดแม้แต่เล่มเดียว ยกเว้นตำราเรียน 38.8% ได้อ่านหนังสือ 1-5 เล่ม 21.5% ได้อ่าน 6-10 เล่ม 14.2% ได้อ่าน 11-20 เล่ม 13.4% ได้อ่านมากกว่า 20 เล่ม สรุปแล้วคือ คนที่อ่านหนังสือมากกว่า 5 เล่มต่อปีมีไม่ถึง 50%
สถิติยังชี้ว่า ชายกับหญิงมีความแตกต่างกันในการอ่านหนังสือ ในรอบปี 2017 เพศชายอ่านหนังสือ 12 เล่มโดยเฉลี่ย ส่วนเพศหญิงอ่าน 15 เล่มโดยเฉลี่ย มากกว่าผู้ชาย 25%
สภาพแวดล้อมที่ต่างกันส่งผลต่อจำนวนการอ่านหนังสือให้มีความแตกต่างมากยิ่งขึ้นด้วย สถิติระบุว่า ภายในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา นักเรียนที่จบจากมัธยมต้นและเข้าเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมปลายได้อ่านหนังสือที่ไม่ใช่ตำราเรียน 14 เล่มโดยเฉลี่ย นักเรียนที่จบจากมัธยมต้นและเข้าเรียนต่อในโรงเรียนวิชาชีพอ่านหนังสือ 13 เล่มโดยเฉลี่ย ส่วนผู้ที่จบมัธยมต้นแล้วไปหางานทำโดยตรงได้อ่านหนังสือ 9 เล่มโดยเฉลี่ยเท่านั้น
ผลสำรวจยังระบุว่า การอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนค่อนข้างมาก ในเยาวชนที่เข้าร่วมตอบสำรวจดังกล่าว 61.4% เคยอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อย 1 เล่มภายในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มี 7.2% อ่านแต่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียว ไม่เคยอ่านหนังสือกระดาษใดๆ และในยอดจำนวนการอ่านหนังสือเฉลี่ยต่อปีของเยาวชนเหล่านี้ มีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 6 เล่มต่อคน และหนังสือกระดาษ 7 เล่ม หนังสือสองแบบนี้นับว่ามีสัดส่วนใกล้เคียงกัน
สำหรับประเภทหนังสือที่ได้รับความนิยมของเยาวชนเหล่านี้ นวนิยายคิดเป็น 70.8% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชนิดอื่นๆ อย่างมาก รองลงไปคือหนังสือประเภทสร้างแรงบันดาลใจ คิดเป็น 37.5% หนังสือด้านวิทยาศาสตร์เป็น 26.6% หนังสือด้านประวัติศาสตร์คิดเป็น 22.3% หนังสือด้านชีวิตความเป็นอยู่คิดเป็น 15.9% หนังสือด้านศิลปกรรมเป็น 10.6% หนังสือด้านปรัชญาและวัฒนธรรมเป็น 10.2% หนังสือด้านการเมืองและการทหารเป็น 9.6% และประเภทอื่นๆ 2.8%
พิจารณาจากเนื้อหาข้างต้น จะเห็นได้ว่าประเภทหนังสือที่วัยรุ่นเหล่านี้นิยมอ่านนับว่าไม่หลากหลายมาก ในจำนวนผู้ร่วมตอบสำรวจทั้งหมด 40.1% จะอ่านหนังสือประเภทเดียวเท่านั้น 25.3% ชอบอ่านหนังสือ 2 ประเภท 16.9% ชอบอ่าน 3 ประเภท และ 13.7% ชอบอ่านมากกว่า 3 ประเภทขึ้นไป และมี 3.5% ระบุว่า ไม่อ่านหนังสือประเภทใดเลย ยกเว้นตำราเรียน
ในการทำสำรวจดังกล่าว วัยรุ่นเหล่านี้ยังมีการเสนอชื่อนักเขียนและผลงานที่พวกเขาชื่นชอบ ในจำนวนนี้ มีนักเขียนจีน 706 คนและนักเขียนต่างชาติ 458 คนได้รับการเสนอชื่อ ผลงานที่ถูกกล่าวถึงส่วนใหญ่เป็นนวนิยาย ส่วนประเภทอื่นๆ มีไม่มาก
ผลสำรวจพบว่า ผลงานนวนิยายจีนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "สี่สุดยอดวรรณกรรมจีน" ยังคงได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นจีนอย่างมาก มี 82.4% เคยอ่าน "ไซอิ๋ว" 70% เคยอ่าน "สามก๊ก" 69.1% เคยอ่าน "ซ้องกั๋ง" 60.7% เคยอ่าน "ความฝันในหอแดง" โดย 82.9% ของผู้ชายและ 81.9% ของผู้หญิงเคยอ่าน"ไซอิ๋ว" จำนวนชายกับหญิงที่เคยอ่านเรื่องนี้ต่างกันไม่มาก ส่วนผู้ชายที่เคยอ่าน"สามก๊ก"มีถึง 79.4% ขณะที่ผู้หญิงมีแค่ 60.2% สำหรับเรื่อง "ความฝันในหอแดง" ผู้ชายที่เคยอ่านมี 51.6% ส่วนผู้หญิงมีถึง 70.2%
ด้านการคัดเลือกหนังสือ พบว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีอิทธิพลต่อเยาวชนเหล่านี้ คือ การนำเสนอของเพื่อน โดย 59.7% ระบุว่า หนังสือที่เลือกไปอ่านเป็นผลจากการนำเสนอของเพื่อน 27.6% ระบุว่า หนังสือที่อ่านมาจากการแนะนำของครู 23.7% ระบุว่า เป็นผลจากการแนะนำของสื่อ ทั้งจากสื่อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และโทรทัศน์ เป็นต้น และ 9.6% ระบุว่า เป็นผลจากการเรียกร้องของพ่อแม่ อาจกล่าวได้ว่า พ่อแม่มีอิทธิพลต่อการอ่านหนังสือของวัยรุ่นเหล่านี้ไม่มาก นอกจากนี้ 38.9% ระบุว่า พบเรื่องใดก็อ่านเรื่องนั้นไป ดังนั้น การชี้นำเยาวชนให้ได้อ่านหนังสือที่ดี จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณามากขึ้น
ด้านการใช้บริการห้องสมุด สถิติแสดงว่า ภายในปีแรกหลังจากผู้ตอบสำรวจจบการศึกษาระดับมัธยมต้นแล้ว 31.7% ไม่เคยยืมหนังสือไปอ่านเนื่องจากไม่มีห้องสมุดใกล้บ้าน 49.5%ไม่เคยยืมหนังสือแม้จะมีห้องสมุดอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ส่วนผู้ที่เคยยืมหนังสือจากห้องสมุดมีแค่ 18.7% เท่านั้น
ข้อมูลที่หยิบยกมาเล่าให้ฟังนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาจำนวนหนึ่ง เช่น ควรให้ความสำคัญกับการเสริมบริการด้านห้องสมุด โดยเฉพาะควรจัดตั้งห้องสมุดสาธารณะให้มากขึ้นอีก และการที่มีเยาวชนมาใช้บริการห้องสมุดเพียงแค่ 20% นั้น สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากจำนวนหนังสือที่ให้ยืมยังขาดแคลนไม่เพียงพออยู่ คุณภาพของทรัพยากรหนังสือในห้องสมุดก็ควรยกระดับสูงขึ้นอีก เพื่อสนองความต้องการของผู้อ่านให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
Yim/Sun