งานแรกที่เขาได้ทำหลังจบการศึกษาคือ แผนกการแปลและบรรณาธิกรภาษาอังกฤษของหนังสือพิมพ์ธุรกิจที่มีสาขาอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งตอนนั้นเขามีอายุ 21 ปี จากนั้นไม่นานเขาก็ได้รับเชิญให้ไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารนักเรียน หรือ เสวี่ยเชิง จ๋าจื้อ (Xueasheng Zazhi) ซึ่งเป็นนิตยสารในเครือของหนังสือพิมพ์ธุรกิจ ซึ่งพิมพ์เผยแพร่แนวความคิดใหม่ๆ ที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาสู่เมืองจีน
เมื่ออายุได้ 24 ปี เหมาตุ้นได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในอีกสถานะหนึ่ง นั่นก็คือ "นักเขียนนวนิยาย" และในปี 1920 เขาและกลุ่มเพื่อนนักเขียนรุ่นใหม่ ได้หุ้นกันซื้อนิตยสารเสี่ยวชัว ยั่วะเป้า (Xiaoshuo Yuebao) ซึ่งแปลว่า "บันเทิงคดีรายเดือน" เพื่อตีพิมพ์ผลงานแปลของนักเขียนจากฝั่งตะวันตก อาทิ ตอลสตอย, เชคอฟ, บัลซัค, โฟรเบิร์ต, โซล่า ฯลฯ ทำให้ทฤษฎีทางวรรณกรรมใหม่ๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น และด้วยความที่เหมาตุ้นเองเป็นนักเขียนแนวสัจนิยม เขาจึงเลื่อมใสลีโอ ตอลสตอยเป็นพิเศษ เพราะมีลีลาและชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ไปในทิศทางเดียวกัน
ในนิตยสารดังกล่าว เหมาตุ้นทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการคอลัมน์ที่ชื่อว่า "เสี่ยวชัว ซินเฉา(Xiaoshuo Xinchao)" หรือคอลัมน์คลื่นลูกใหม่ และต่อมาในปีเดียวกัน เขาได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้ากองบรรณธิการ และได้ค่อยๆ ปรับปรุงนิตยสารอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ๆ นอกจากนี้เพื่อนนักเขียนหนุ่มของเขาที่ปักกิ่งก็ได้ให้การสนับสนุนด้วยการเขียนเรื่อง แปลงานวรรณกรรมตะวันตก บทความเกี่ยวกับทัศนะที่มีต่อทฤษฎีทางวรรณกรรมใหม่ และเทคนิกการเขียนต่างๆ ส่งมาให้ลงในนิตยสารของเขาด้วย และนี่ก็ถือเป็นต้นกำเนิดของ "กลุ่มผู้ศึกษาวรรณกรรม" หรือ "เหวินเสวี่ย หยานจิวหุ้ย(Wenxue Yanjiuhui)" การเข้ามาปฏิรูปนิตยสารของเหมาตุ้นประสบความสำเร็จไปพร้อมกับกระแสของความเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ๆ และพิสูจน์ได้จากยอดจำหน่ายกว่า 10,000 ฉบับต่อเดือน ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ นิตยสารเล่มนี้มีส่วนสำคัญยิ่งในการเผยแพร่แนวคิดวรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ของวรรณกรรมจีน ในยุคนี้ถือได้ว่าเหมาตุ้นเป็นผู้นำความเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมคนสำคัญของภาคใต้ของจีน