นวนิยายเรื่อง "สือ" (1927) เป็นเรื่องแรกที่เหมาตุ้นเขียนขึ้น เนื้อเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้มีการศึกษาที่เข้าร่วมกับการปฏิวัติด้วยศรัทธาอันแรงกล้า โดยไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของสังคม
นวนิยายเด่นของเหมาตุ้นอีกเล่มหนึ่งคือ "หง" (1929) ที่แปลเป็นไทยได้ว่า "สายรุ้ง" ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งด้วยเพราะมีตัวละครมากกว่า 70 ตัวที่ดำเนินอยู่ในโครงเรื่องที่แปรผันและหักมุมอยู่ตลอดเวลา
จนเมื่อถึงปี 1933 "เที่ยงคืน" นวนิยายเรื่องเอกของเขาจึงคลอดออกมาสู่โลกวรรณกรรมและประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะได้รับการแปลเป็นทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส นวนิยายเรื่องนี้ นับได้ว่าเป็นวรรณกรรมสมัยใหม่ที่อมตะของจีน นวนิยายเล่มโตนี้พรรณนาสภาพชีวิตของผู้คนในนครเซี่ยงไฮ้ในยุคทศวรรษ 1930 ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะในด้านการปฎิวัติวัติทั้งในเมืองและชนบท ผลกระทบจากการบีบคั้นทางการเงินเนื่องจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจของโลกในขณะนั้น การรบราฆ่าฟันกันระหว่างทหาร การต่อสู้ของคนงาน และการลุกขึ้นสู้ของชาวนาในชนบท ตลอดจนด้านความคึกคักของตลาดหุ้นที่ปั่นป่วนวุ่นวาย ซึ่งทั้งหมดเป็นผลพวงมาจากประสบการณ์ชีวิตโดยตรงของเขาทั้งสิ้น
สำหรับนวนิยายและเรื่องสั้นของเหมาตุ้นยังมีอีกมากมาย ที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยหลายเล่ม ได้แก่ ร้านเถ้าแก่หลิน,ไหมฤดูใบไม้ผลิ, ปลายฤดูหนาว และเรื่องการเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเรื่องหลังนี้น่าจะมีการแปลถึง 2 สำนวน เพราะ "จูเลียต" นักแปลชั้นครูของไทย และคู่ชีวิตของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็เคยแปลเรื่องนี้เช่นกัน แต่ฉบับของเธอนั้นชื่อว่า "นาข้าวในฤดูชิวเทียน" เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความนิยมนวนิยายของเหมาตุ้นในเมืองไทยได้ด้วย