เหมย หลานฟาง กับเพื่อนร่วมชั้นเรียนในวัยเด็ก
เพราะเมื่อเหมย หลานฟาง อายุได้ 10 เขาได้ขึ้นเวทีแสดงเป็นครั้งแรก โดยสมบทบาทเป็นหญิงสาวแรกรุ่นในเรื่อง "เทียนซานเผย" หลังจากนั้นก็ทำการแสดงตลอด จนพอถึงปี 1911 เขาก็ได้คัดเลือกให้เป็นนักแสดงงิ้วที่มีความสามารถที่สุดของกรุงปักกิ่งเป็นลำดับที่ 3 และช่วงนี้เองที่เขาเริ่มใช้ชื่อ เหมย หลายฟาง ในการแสดง
ทำให้ช่วงนี้ เหมย หลานฟาง เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาบ้างแล้ว ในปี 1913 เดินทางไปทำการแสดงที่เซี่ยงไฮ้เป็นเวลา 1 ปีเต็ม และเป็นที่นิยมของผู้คนในมณฑลละแวกนั้นอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าไม่มีใครในเจียงหนาน ซึ่งก็คือบริเวณ 3 มณฑลทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง ได้แก่ อานฮุย เจียงซู และเจ้อเจียง ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ "เหมย หลานฟาง"
และถึงกับพูดยกย่องกันเป็นสำนวนว่า "จะหาภรรยาต้องให้ได้เหมือนเหมยหลานฟาง จะมีบุตรต้องให้ได้เช่นโจวซิ่นฟาง" เพราะทั้งคู่เป็นนักแสดงงิ้วชื่อดังในยุคนั้น เหมย หลานฟาง มักรับบทเป็นตัวนาง ส่วนโจว ซิ่นฟาง นั้นถนัดเล่นเป็นตัวพระ
บทที่เหมย หลานฟาง ถนัดเล่นมากที่สุด ก็คือ "ตัวนาง" ซึ่งในภาษาจีนเรียกว่า "ต้าน" แต่ในแต่ละเรื่องก็จะมีตัวละครผู้หญิงอีกหลายตัว ซึ่งจะมีชื่อเรียกแยกย่อยแตกต่างกันออกไปอีก ส่วนบทที่เล่นบ่อยก็คือหญิงสูงศักดิ์ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "เจิงต้าน" และตัวละครตัวนี้ต้องสวมชุดสีน้ำเงิน ภาษางิ้วปักกิ่งเลยเรียกตัวละครนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "ชิงอี" และผู้แสดงที่รับบทนี้จะต้องมีความสามารถด้านการร้องอย่างมาก นอกจากน้ำเสียงกระจ่างใสที่ขับออกมาแล้ว ยังต้องให้ท่วงทำนองที่ไพเราะ และมีความอ่อนหวานไปพร้อมกันด้วย
ในปี 1914 ที่เหมย หลานฟาง เดินทางกลับจากเซี่ยงไฮ้มานั้น นับเป็นช่วงสำคัญหรือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เหมย หลานฟาง กลายเป็นดาวเด่นเพียงดวงเดียวบนเวทีงิ้วปักกิ่ง เพราะเขาได้ทำการปรับเปลี่ยนวิธีการเล่น การร้อง ออกแบบเครื่องแต่งกาย การแต่งหน้าใหม่ รวมถึงภาษากายหรือลีลาการร่ายรำ รวมถึงการใช้แววในการสื่ออารมณ์กับคนดูด้วย ซึ่งล้วนผิดแผกไปจากงิ้วปักกิ่งฉบับดั้งเดิม