第三课:你住在哪儿?
บทที่ 3: คุณพักอยู่ที่ไหน
หูถ้งและซื่อเหอย่วน
"หูถ้ง" เป็นตรอกซอยโบราณที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของปักกิ่ง หูถ้งส่วนใหญ่ในปักกิ่งสร้างในสมัยราชวงศ์หยวน หมิงและชิง โดยสร้างอยู่รายรอบบริเวณพระราชวังต้องห้าม แรกเริ่มนั้นการจัดที่พักอาศัยในหูถ้งจะกำหนดตามฐานะทางสังคม ยิ่งอยู่ใกล้พระราชวังต้องห้ามมากเท่าไหร่ ก็แสดงถึงฐานะทางสังคมที่สูงขึ้นตามลำดับ หูถ้งที่อยู่ในแนวทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตกของพระราชวังต้องห้ามจะเป็นที่พักอาศัยของขุนนางและชนชั้นสูง ส่วนหูถ้งที่อยู่ในแนวทิศเหนือจรดทิศใต้นั้นจะเป็นที่พักอาศัยของสามัญชน
หูถ้งแต่ละสายจะมีชื่อเรียกต่างกันไป ชื่อของหูถ้งนั้นมีหลากหลาย โดยมากจะตั้งชื่อตามชื่อหน่วยงานของราชสำนัก วัง วัด คลังพัสดุ โรงงาน สะพาน แม่น้ำ ตลาดนัด สินค้า เครื่องใช้ แซ่ของผู้อาศัย ภูมิทัศน์ ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวบ้าน ชื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังใช้เรียกอยู่จนถึงปัจจุบัน
แรกเริ่มนั้น ตระกูลหนึ่งจะอาศัยรวมอยู่ในหูถ้งเดียวกัน กลายเป็นหน่วยครอบครัวขยายที่มีคนหลายรุ่นอาศัยอยู่ด้วยกัน แต่ต่อมามีหูถ้งจำนวนไม่น้อยที่มีคนจากต่างครอบครัวมาอยู่รวมกัน ในหูถ้งจะมีบ้านแบบโบราณที่เรียกกว่า "ซื่อเหอย่วน" ซื่อเหอย่วนประกอบขึ้นด้วยบ้านสี่หลังซึ่งตั้งล้อมรอบและหันหน้าเข้าหาลานบ้านเดียวกัน มีลักษณะคล้ายตัวอักษร "口"(kǒu) ด้วยเหตุนี้บ้านโบราณแบบดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกตามโครงสร้างของมันว่า "ซื่อเหอย่วน" (บ้านสี่หลังที่ร่วมใช้ลานบ้านเดียวกัน) ซื่อเหอย่วนสร้างขึ้นอย่างแออัดแต่เป็นระเบียบ โดยบ้านทั้งสี่ตั้งอยู่บนทิศเหนือ ใต้ ตะวันออกและตะวันตกพอดี เมื่อซื่อเหอย่วนหลายๆ หลังมาตั้งอยู่รวมกันจึงเหลือเป็นพื้นที่แคบและยาวต่อกัน กลายเป็นตรอกเล็กซอยน้อยที่เรียกว่าหูถ้งนั่นเอง สิ่งปลูกสร้างซึ่งสร้างขึ้นอย่างเป็นระเบียบตัดเป็นแนวเส้นตรงจากเหนือจรดใต้ จากตะวันออกจรดตะวันตกนี้เอง ได้กลายเป็นที่พักอาศัยของชาวบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจีน
ซื่อเหอย่วนในปักกิ่งมีความเป็นมายาวนาน แต่ไม่กี่ปีมานี้ การพัฒนาเมืองให้ทันสมัยได้ทำให้หูถ้งจำนวนมากถูกรื้อถอน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหูถ้งก็ต้องย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงได้กำหนดให้หูถ้งจำนวน 20 กว่าสายเป็นเขตอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่ออนุรักษ์ทัศนียภาพของเมืองเก่าและรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่นี้เอาไว้ ปัจจุบัน หูถ้งยังคงกินเนื้อที่ส่วนใหญ่ของใจกลางเมืองปักกิ่ง โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งในสามของประชาชนในเขตเมืองอาศัยอยู่ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหูถ้งยังคงรักษารูปแบบการดำเนินชีวิตแบบเก่าไว้มาก หูถ้งผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายร้อยปีจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของตำนานการดำเนินชีวิตของชาวปักกิ่งเก่า ทั้งรูปแบบและมนต์เสน่ห์ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะของสิ่งปลูกสร้างในหูถ้งก็ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้แวะเวียนมาเยี่ยมชมมากขึ้นทุกปี