第十一课:我在语言大学对外汉语学院学习。
บทที่ 11: ฉันเรียนที่คณะการสอนภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติ มหาวิทยาลัยภาษา
ขงจื๊อ
ขงจื๊อนักปราชญ์และนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ของจีน มีชื่อว่าชิว มีสมญาว่าจ้งหนี เป็นคนรัฐหลู่ในสมัยชุนชิว
ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่นามขงจื๊อนับเป็นผู้รวบรวมแนวคิดทางวัฒนธรรมของชนชาติจีนและตั้งสำนักปรัชญาลัทธิหรูขึ้น แนวความคิดแรกที่ขงจื๊อเสนอ คือ "เหริน" (ความรัก) แนวคิดนี้เสนอให้ผู้ปกครองรักและเอาใจใส่ประชาชน ไม่กดขี่ประชาชนจนเกินควร ทั้งนี้เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างชนชั้นในสังคม ต่อมาท่านได้เสนอให้ผู้ปกครองใช้คุณธรรมในการปกครอง ต่อต้านการปกครองด้วยความรุนแรงและการลงโทษหรือการเข่นฆ่าตามอำเภอใจ ปรัชญาแนวคิดที่สำคัญอื่นๆ ของขงจื๊อ ได้แก่ "เหรินอี้" (ความรักและความถูกต้อง) "หลี่เย่ว์" (พิธีกรรมและดนตรี) "การปกครองด้วยคุณธรรมและการขัดเกลาด้วยการศึกษา" ตลอดจน "กษัตริย์ถือประชาชนเป็นหลักในการปกครอง" ปรัชญาลัทธิหรูได้แทรกซึมสู่ทุกๆ ด้านของชีวิตและวัฒนธรรมของชาวจีน จนกลายเป็นระบบแนวคิดหลักของวัฒนธรรมศักดินาตลอดระยะเวลากว่า 2,000 ปี ทั้งยังมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อแนวคิดของชาวจีนในยุคต่อๆ มา
นอกจากขงจื๊อจะเป็นนักปราชญ์แล้ว ท่านยังเป็นนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ของจีนด้วย ในสมัยสังคมทาส การศึกษาจำกัดอยู่ภายในราชสำนัก ดังนั้นจึงมีเพียงลูกหลานของชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้รับการศึกษา ในสภาพสังคมเช่นนั้น ขงจื๊อได้ทำลายข้อจำกัดดังกล่าวด้วยการตั้งโรงเรียนขึ้นเองและเปิดรับนักศึกษาจากทุกชนชั้น เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่สามัญชน แนวคิดด้านการศึกษาของขงจื๊อได้แก่ "สอนตามคุณสมบัติของผู้เรียน" ซึ่งหมายถึงใช้วิธีการสอนที่แตกต่างกันไปตามคุณสมบัติหรือข้อจำกัดที่แตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาอื่นๆ ที่ขงจื๊อได้กล่าวไว้ เช่น การศึกษาต้องหมั่นทบทวนบทเรียน "การทบทวนหรือพิจารณาความรู้เดิมจะทำให้เกิดมุมมองความคิดใหม่" ควรเรียนรู้อย่างซื่อสัตย์ กล่าวคือ "เมื่อรู้บอกว่ารู้ เมื่อไม่รู้จงยอมรับว่าไม่รู้" และต้องศึกษาพร้อมขบคิดพิจารณาควบคู่กันไป
เชื่อกันว่า ในวัยชราขงจื๊อได้เขียนคัมภีร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมโบราณไว้หลายเล่ม เช่น ซือ(คัมภีร์กาพย์) และ ซู(คัมภีร์รัฐศาสตร์) เป็นต้น นอกจากนี้ท่านยังได้บันทึกประวัติศาสตร์ของรัฐหลู่ไว้ในคัมภีร์ชุนชิวด้วย คัมภีร์ที่กล่าวถึงเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าต่อการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมโบราณของจีนเป็นอย่างยิ่ง
ระบบการสอบในสมัยโบราณของจีน
ระบบการสอบเข้ารับราชการเป็นระบบที่ราชสำนักจีนในสมัยสังคมศักดินาจัดขึ้นเพื่อคัดเลือกปัญญาชนเข้ารับราชการ ระบบการสอบนี้เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุยจนถึงราชวงศ์ชิง ระบบการสอบดังกล่าวแบ่งออกเป็นการสอบในระดับต่างๆ หลายขั้น ดังเช่นระบบการสอบเข้ารับราชการในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีการสอบในระดับที่สำคัญดังนี้
การสอบถงเซิง
การสอบถงเซิงคล้ายกับการสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในปัจจุบัน ผู้สมัครสอบในระดับนี้ทุกคน ไม่ว่าจะมีอายุมากน้อยเท่าไรก็ตาม จะเรียกว่า "ถงเซิง" (ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า "นักศึกษาเด็ก") ดังนั้นจึงเรียกการสอบในระดับนี้ว่า "การสอบถงเซิง" การสอบถงเซิงเป็นการสอบในระดับท้องถิ่นซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ การสอบระดับอำเภอ การสอบระดับจังหวัด และการสอบย่วนซื่อซึ่งจัดโดยขุนนางที่ราชสำนักมอบหมายหน้าที่มาโดยตรง ในการสอบ 3 ระดับนี้ การสอบระดับอำเภอถือว่าสำคัญที่สุด การจัดสอบระดับอำเภอจะดำเนินการโดยขุนนางประจำอำเภอต่างๆ หากผู้เข้าสอบสอบผ่านในระดับนี้ก็จะได้รับเลือกเป็น "เซิงหยวน" (บัณฑิตระดับอำเภอ) หรือมักเรียกกันทั่วไปว่า "ซิ่วฉาย"
การสอบระดับภูมิภาค
ผู้ที่มีสิทธิเข้าสอบในระดับภูมิภาคหรือ "เซียงซื่อ" คือ"เซิงหยวน" การสอบในระดับนี้จะจัดขึ้นทุก 3 ปีที่เมืองหลวงของมณฑลต่างๆ เนื่องจากการสอบมักจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง จึงเรียกการสอบในระดับนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "ชิวซื่อ" หรือการสอบในฤดูใบไม่ร่วง ผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกในระดับนี้เรียกว่า "จี่ว์เหริน" หรือมักเรียกกันทั่วไปว่า "จ้งจี่ว์"
การสอบระดับประเทศ
"จี่ว์เหริน" ของมณฑลต่างๆ จะเดินทางมายังเมืองปักกิ่งเพื่อเข้าสอบ "ฮุ่ยซื่อ" หรือการสอบระดับประเทศซึ่งจัดขึ้นทุก 3 ปีเช่นกัน เนื่องจากการสอบมักจัดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ จึงเรียกการสอบในระดับนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "ชุนซื่อ" หรือการสอบในฤดูใบไม้ผลิ ผู้ที่สอบผ่านในระดับนี้เรียกว่า "ก้งเซิง" หากบัณฑิตคนใดสอบได้เป็น"ก้งเซิง" ก็จะมีสิทธิได้รับคัดเลือกให้ถวายการรับใช้จากกษัตริย์ ดังนั้นการสอบได้เป็นก้งเซิงจึงถือว่าได้เป็นการก้าวสู่เส้นทางการเป็นขุนนางแล้ว
การสอบในพระราชวัง
"เตี่ยนซื่อ" หรือการสอบในพระราชวัง เป็นการสอบคัดเลือก "ก้งเซิง" ที่จัดขึ้นในเขตพระราชวังและใช้ข้อสอบที่กษัตริย์ทรงเป็นผู้ออกเอง ผู้ที่ผ่านการสอบในระดับนี้มีจำนวนจำกัด โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มที่ดีที่สุด หรือเรียกว่า "ซานจย่า" ในแต่ละกลุ่มจะมีผู้ได้รับคัดเลือกเพียง 3 คน ผู้ที่สอบได้อันดับหนึ่ง สองและสามของแต่ละกลุ่มจำนวน 9 คนนี้เรียกว่า "จิ้นซื่อ" ในกลุ่มอีจย่า(กลุ่มที่หนึ่ง) ผู้ที่สอบได้อันดับหนึ่งจะได้รับตำแหน่ง "จ้วงหยวน" (จอหงวน) หรือเรียกว่า "เตี่ยนหยวน" หรือ "ติ่งหยวน" ผู้ที่สอบได้อันดับสองจะได้รับตำแหน่ง "ป๋างเหยี่ยน" และผู้ที่สอบได้อันดับสามจะได้รับตำแหน่ง "ทั่นฮวา" ในสมัยราชวงศ์ชิง หลังจากผ่านการสอบเตี่ยนซื่อแล้ว จิ้นซื่อทุกคนยังต้องเข้าสอบ "เฉาข่าว" หรือการสอบในเขตพระราชฐานอีกครั้ง โดยการสอบครั้งนี้จะมีขุนนางชั้นสูงเป็นผู้ตรวจข้อสอบ เมื่อเสร็จสิ้นการสอบจะมีการจัดลำดับตามอันดับในการสอบเตี่ยนซื่อและคะแนนจากการสอบเฉาข่าว จากนั้นกษัตริย์จะเป็นผู้พระราชทานตำแหน่งขุนนางแก่บัณฑิตเหล่านี้ตามความเหมาะสม ดังนั้นหากบัณฑิตคนใดสอบได้เป็นจิ้นซื่อก็เท่ากับว่าได้เป็นขุนนางในราชสำนักค่อนข้างแน่นอนแล้ว
การสอบเข้ารับราชการของจีนถือเป็นระบบสำคัญในการคัดสรรบุคคลเข้ารับราชการในสมัยศักดินา จึงมีคำพูดที่ว่า "เรียนหนังสือเพื่อเป็นขุนนาง" ในภาษาจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว
ปั๋วซื่อ(ดุษฎีบัณฑิต) ซั่วซื่อ(มหาบัณฑิต)และเสวียซื่อ(บัณฑิต)ในสมัยโบราณของจีน
ปั๋วซื่อ
"ปั๋วซื่อ" ซึ่งปัจจุบันหมายถึงดุษฎีบัณฑิตนั้น ในสมัยโบราณเป็นชื่อตำแหน่งขุนนาง มีการเริ่มใช้คำนี้เป็นชื่อตำแหน่งขุนนางในสมัยจั้นกั๋ว(รัฐสงคราม) ในสมัยจักรพรรดิฉินซี ปั๋วซื่อทำหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษาของรัฐบาล แต่หลังจากสมัยราชวงศ์ฮั่น ปั๋วซื่อได้กลายมาเป็นชื่อตำแหน่งขุนนางด้านการศึกษาซึ่งมีหน้าที่สอนหนังสือ นอกจากนี้ยังได้มีการมอบตำแหน่งนี้ให้กับขุนนางที่มีศิลปวิทยาการหรือมีความรู้เฉพาะทางด้วย เช่น หลังสมัยราชวงศ์เว่ยและจิ้นมีตำแหน่งปั๋วซื่อแพทย์หลวง ปั๋วซื่อด้านการเสี่ยงทาย เป็นต้น หลังสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง คำว่าปั๋วซื่อกลายเป็นคำเรียกผู้ที่ประกอบอาชีพบางประเภท เช่น ฉาปั๋วซื่อ(ปั๋วซื่อชา) จิ่วปั๋วซื่อ(ปั๋วซื่อสุรา) เป็นต้น
ซั่วซื่อ
"ซั่วซื่อ" ซึ่งปัจจุบันหมายถึงมหาบัณฑิตนั้น ในสมัยโบราณเป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่มีความรู้กว้างขวางและมีคุณธรรมสูงส่ง แต่คำนี้กลับปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์ไม่มากนัก จึงเป็นไปได้ว่าคำว่า "ซั่วซื่อ" ไม่ใช่ชื่อตำแหน่งขุนนางที่เป็นทางการ นอกจากนี้ในสมัยโบราณยังมีการใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า "ซั่วซื่อ" ได้แก่ "ซั่วเหล่า" และ "ซั่วหรู" เรียกผู้ที่มีความรู้กว้างขวางด้วย
เสวียซื่อ
"เสวียซื่อ" ซึ่งปัจจุบันหมายถึงบัณฑิตนั้น ในสมัยโบราณเป็นคำที่ใช้เรียกบุตรหลานของชนชั้นสูงที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียน ต่อมาคำนี้ได้กลายเป็นชื่อตำแหน่งขุนนาง "เสวียซื่อ" เป็นคำเรียกรวมๆ ของผู้ที่มีความรู้และผู้ที่เข้าศึกษามาเป็นเวลานาน หลังสมัยราชวงศ์เว่ยและจิ้น เสวียซื่อจึงได้กลายเป็นชื่อตำแหน่งขุนนางอย่างเป็นทางการ หมายถึงผู้ที่ศึกษาศิลปวิทยาการมานานและเข้าถวายการรับใช้ราชสำนัก ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง เสวียซื่อมีฐานะสูงขึ้นมาก กระทั่งสามารถเข้าร่วมในกิจการของราชสำนักได้ หัวหน้าคณะเสวียซื่อคือฮั่นหลินเสวียซื่อ ฮั่นหลินเสวียซื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและราชเลขาธิการที่กษัตริย์ทรงไว้วางพระทัย ดังนั้นจึงมักเรียกว่าเสนาธิการฝ่ายในด้วย ในสมัยราชวงศ์ซ่ง หากผู้ใดได้รับตำแหน่งฮั่นหลินเสวียซื่อ ผู้นั้นก็มีโอกาสจะได้ขึ้นเป็นอัครเสนาบดีต่อไป ในสมัยราชวงศ์ชิงหัวหน้าคณะเสวียซื่อเรืองอำนาจมาก ถือเป็นระดับชั้นขุนนางสูงสุดของขุนนางฝ่ายพลเรือน