สัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์ทองที่ชาวจีนได้หยุดติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน เนื่องจากเป็นวันหยุดแรงงานแห่งชาติสำหรับชาวจีนทุกเพศทุกวัยทุกสาขาอาชีพ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในประเทศจีนนั้นมีประชากรพันกว่าล้านคน และในจำนวนนี้มีแรงงานอพยพภายในประเทศมากกว่า 240 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด
สาเหตุหลักของการอพยพของแรงงานจากชนบทเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่นั้นคือ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ทำให้เกิดความยากจน อีกทั้งแรงงานเหล่านี้ต้องการมีชีวิตและแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า แต่ส่วนใหญ่จะเข้ามาทำงานประเภทก่อสร้าง พนักงานในร้านอาหาร พนักงานประจำโรงงานต่างๆ เป็นต้น
สองสาวน้อย แรงงานอพยพกำลังรอรถไฟเข้าปักกิ่ง
ทางคณะจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยประชาชนจีนได้ร่วมมือกับบริษัทจัดหางานออนไลน์ชื่อดัง เพื่อทำการสำรวจวิจัยชีวิตความเป็นอยู่ของบรรดาแรงงานอพยพในเมืองใหญ่ทั้งหลายที่ทำงานต่างบ้านต่างเมืองและได้รายได้ไม่สูงนักว่า พวกเขามีความสุขและความพอใจชีวิตในเมืองใหญ่มากน้อยแค่ไหน และมีแรงงานมากกว่า 2,473 คนเข้าร่วมการสำรวจครั้งนี้ ผ่านการสอบถามทางโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่
การสำรวจเริ่มจากเมืองใหญ่ที่มีค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (Gross Domestic Product – GDP) สูงใน 4 อันดับแรกจาก 20 เมืองที่มีประชากรแรงงานอพยพอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กว่างโจวและเซินเจิ้น ปรากฏว่า แรงงานที่ทำงานในเมืองเซิ่นเจิ้นนั้นมีความสุขน้อยที่สุด ถัดมาเป็นเซี่ยงไฮ้อยู่ในอันดับที่ 18 และกรุงปักกิ่งอยู่ในอันดับที่ 14 ซึ่งตรงกันข้ามกับแรงงานที่ทำงานในเมืองฉวนโจวเป็นเมืองท่าเล็กๆ ของฝูเจี้ยน พวกเขารู้สึกพอใจและมีความสุขกับเมืองเล็กๆ นี้มาก
สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานอพยพในเมืองใหญ่
จากการสำรวจ มีแรงงานประมาณร้อยละ 30 ที่รู้สึกถูกแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติจากเมืองที่พวกเขาอาศัยและทำงาน อย่างไรก็ตามในกลุ่มนี้มีแรงงานร้อยละ 46.2 ต่างยืนยันว่า จะยังคงทำงานในเมืองเดิมต่อไป ขณะที่มีอีกร้อยละ 23.3 กำลังตัดสินใจจะย้ายไปทำงานเมืองอื่นแทน มากไปกว่านั้น กว่าร้อยละ 68 ของแรงงานรุ่นที่สองหรือลูกของแรงงานอพยพรุ่นแรก ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งและชนชั้นล่างของเมืองใหญ่เหล่านี้ไปแล้ว ส่วนใหญ่จะตอบว่า เศรษฐกิจของเมืองใหญ่นั้นไม่ได้มีค่าผันแปรโดยตรงกับระดับความสุขของแรงงาน ในเมืองใหญ่ ผู้คนใจดีและเอื้ออาทรน้อยกว่าเมืองเล็ก อีกทั้งการเป็นแรงงานอพยพในเมืองใหญ่ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง การเรียกร้องสูงจากผู้ว่าจ้างงาน และค่าครองชีพสูงอีกด้วย
แรงงานอพยพรุ่นที่สอง ต่างก็มีความฝันเหมือนกับคนหนุ่มสาวทั่วไป
หัวหน้าการสำรวจกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า "แรงงานอพยพมีบทบาทมากมายในสังคม แต่พวกเขายังต้องแบกรับภาระโดยตรงของการเปลี่ยนผ่านทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นผลทางสังคมทั่วไปหรือแม้กระทั่งผลกระทบทางด้านจิตใจอีกด้วย" อีกทั้งในบรรดาแรงงานอพยพที่มีอายุระหว่าง 18-23 ปีนั้นมีความฝันเหมือนกับวัยรุ่นทั่วไป แต่พวกเขาแทบจะหาหนทางไม่เจอว่าจะทำอย่างไรให้ความฝันนั้นเป็นจริง
เหมือนกับการยัดตัวเองเข้าไปในรถไฟใต้ดินของกรุงปักกิ่ง ซึ่งแทบจะไม่มีพื้นที่ให้พวกเขายืนหรือหายใจเลย ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เร่งด่วนหรือไม่ก็ตาม
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์
*แหล่งข้อมูลและเรียบเรียงจาก www.chinadaily.com.cn