เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:สะพานของปักกิ่ง (1) สะพานจินอ๋าวอี้ว์ตง
  2012-09-04 17:12:34  cri

บทเพลง "สะพานของปักกิ่ง (北京的桥)" ที่ขับร้องโดยไช่กั๋วชิ่ง (蔡国庆) ในปี 1990 เป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่ให้ทั้งความรู้สึกและภาพของปักกิ่งในช่วงนั้น โดยเนื้อร้องได้กล่าวถึงสะพานต่างๆ ในปักกิ่งทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งชื่อแรกที่เอ่ยถึง คือ สะพานจินอ๋าวอี้ว์ตง (金鳌玉蝀) หรือชื่อเรียกในปัจจุบันว่า สะพานเป๋ยไห่ต้าเฉียว (北海大桥) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประตูด้านทิศใต้ของสวนสาธารณะเป๋ยไห่กงหยวน เป็นสะพานหินโบราณที่ใหญ่ที่สุดในเขตตัวเมืองของกรุงปักกิ่ง

สะพานหินจินอ๋าวอี้ว์ตงในอดีตสมัยราชวงศ์หมิงเป็นสะพานหินเก้าช่อง

ความยาวตัวสะพานหลัก 117.58 เมตร กว้าง 9.48 เมตร

สะพานจินอ๋าวอี้ว์ตง เป็นชื่อเรียกในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง เดิมมีชื่อเรียกว่า จินไห่เฉียว(金海桥) หรือ อี้ว์เหอเฉียว(御河桥) ถูกสร้างขึ้นปี 1264 สมัยราชวงศ์หยวน จึงนับเป็นสะพานเก่าแก่ที่ผ่านการบูรณะปรับเปลี่ยนมาหลายยุคหลายสมัย ตั้งอยู่ทางหัวถนนด้านตะวันออกของถนนสายเก่าชื่อว่า "เหวินจินเจีย (文津街) " ใกล้กับ "ถวนเฉิง (团城)" หรือเมืองแห่งความกลมเกลียว โดยเป็นสะพานที่ทอดคั่นทะเลสาบเป๋ยไห่กับจงไห่ ทางด้านใต้ของสวนสาธารณะเป๋ยไห่กงหยวน

สะพานจินอ๋าวอี้ว์ตง ในสมัยราชวงศ์หมิงได้ทำการปรับเปลี่ยนจากสะพานไม้เป็นสะพานหินโค้ง ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยหงจื้อปีที่สอง (ค.ศ.1489)แห่งฮ่องเต้หมิงเสี้ยวจง(ครองราชย์ ค.ศ.1488 - ค.ศ.1506) และในสมัยฮ่องเต้หมิงเจียจิ้ง(ครองราชย์ ค.ศ.1522 - ค.ศ.1567) ได้มีการสร้างซุ้มประตูไว้ที่ปลายสะพานทั้งสองด้าน ด้านตะวันตกชื่อว่า "จินอ๋าว (金鳌)" หรือเต่าทองคำ ส่วนด้านตะวันออกชื่อว่า "อี้ว์ตง (玉蝀)" หรือสายรุ้งหยก จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกสะพาน "จินอ๋าวอี้ว์ตง" ซึ่งมีลักษณะเป็นสะพานหินโค้งแบบโบราณ 9 ช่อง ตัวสะพานกว้าง 9.48 เมตร ความยาวทั้งสิ้น 156.73 เมตร ราวสะพานทำจากหินอ่อนสีขาว ส่วนหัวเสาราวสะพานทำเป็นรูปดอกบัวทรงสี่เหลี่ยมหัวเรียบตัด มองดูเหมือนเข็มขัดหยกขาวชิ้นงามสะอาดที่คาดเด่นเป็นสง่าประดับบนผืนน้ำ ซึ่งรูสะพานช่องที่หนึ่งและเก้ามีความกว้าง 3.2 เมตร ช่องสองและแปด 3.82 เมตร ช่องสามและเจ็ด 4.45 เมตร ช่องสี่และหก 5.1 เมตร ช่องที่ห้าตรงกลาง 5.74 เมตร โดยความห่างระหว่างช่องทั้งแปดใกล้เคียงกันอยู่ที่ราว 7.84 เมตร และเหนือช่องทั้งเก้าจะมีหัวมังกรติดประดับไว้พิเศษกว่าที่อื่น

ทะเลสาบเป๋ยไห่และจงไห่ในสมัยราชวงศ์หยวน คือ สระไท่เย่ฉือ (太液池) ของพระราชวัง ซึ่งตอนกลางของสระมีพื้นที่เกาะเล็กๆ ยื่นออกไป ชื่อว่า อิ๋งโจว (瀛洲) หรือ "ถวนเฉิง" ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของตำหนักเทียนเตี้ยน ต่อมาสมัยราชวงศ์หมิงได้มีการบูรณะปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ตำหนักเฉิงกวงเตี้ยน ซึ่งจากเดิมด้านหน้าตำหนักทางทิศตะวันออกและตะวันตกต่างมีสะพานไม้สร้างไว้ สมัยราชวงศ์หมิงได้รื้อถอนสะพานไม้ด้านตะวันออกออกไป คงไว้แต่ด้านตะวันตกและได้กลายมาเป็นสะพานเป๋ยไห่ต้าเฉียวในปัจจุบัน

รูปลักษณ์ของราวสะพานจินอ๋าวอี้ว์ตง หรือเป๋ยไห่ต้าเฉียวในปัจจุบัน

ที่เปลี่ยนจากราวสะพานหินเป็นรั้วเหล็กกั้นสูงราวสองเมตร

เมื่อราชวงศ์ชิงล่มสลายลง ซุ้มประตูไม้ทั้งสองเสื่อมทรุดอย่างมากเนื่องจากไม่มีงบในการซ่อมบำรุง จนปี 1933 จึงได้มีการซ่อมแซมเปลี่ยนเป็นซุ้มประตูคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ต่อมาซุ้มประตูที่สร้างขึ้นใหม่ก็ได้ถูกรื้อถอนออกไปและได้เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็นสะพาน "เป๋ยไห่ต้าเฉียว" รวมถึงช่องทั้งเก้าของสะพานก็คงไว้เพียงช่องตรงกลางให้น้ำทะลุผ่านถึงกันได้เท่านั้นที่เหลืออุดปิดไม่ใช้งาน เนื่องมาจากภายหลังย่างเข้าสู่ยุคสาธารณะรัฐประชาชนจีนแล้ว รถราสัญจรไปมาในปักกิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความกว้างของสะพานจินอ๋าวอี้ว์ตงดูจะคับแคบไม่สะดวกต่อการคมนาคมอีกต่อไป จึงมีผู้เสนอว่าให้ทำการสร้างสะพานขึ้นใหม่และรื้อ "ถวนเฉิง" ออกไป เพื่อขยายเส้นทางการจราจรตัดถนนใหม่ให้ตรง แต่ถูกคัดค้านอย่างหนักจากนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมโบราณ

ในปี 1954 รัฐบาลปักกิ่งได้ตัดสินใจขยายเส้นถนนตงซื่อและซีซื่อ เพื่อความสะดวกในการเดินทางสัญจรระหว่างตะวันออกกับตะวันตก โดยจะขยายความกว้างของตัวสะพานจินอ๋าวอี้ว์ตงออกไปทางด้านเหนือและใต้ ซึ่งจะกินบริเวณกระทบที่ตั้งของถวนเฉิงให้ต้องถูกรื้อทำลายด้วย เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไปนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญต่างร้อนรนและทำการประชุมหารือกันเป็นการด่วน เพื่อหาทางอนุรักษ์ถวนเฉิงเอาไว้ โดยลงความเห็นว่าให้ขยายสะพานออกด้านทะเลสาบจงไห่หรือก็คือให้ขยายออกทางด้านใต้ จึงเขียนรายงานเสนอความคิดเห็นไปยังนายกฯโจวเอินไหล ภายหลังการพิจารณาจากข้อมูล การลงพื้นที่สัมผัสและสอบถามด้วยตนเองแล้ว นายกฯโจวก็ตัดสินใจว่า จะไม่มีการแตะต้องเคลื่อนย้ายส่วนหนึ่งส่วนใดของ "ถวนเฉิง" ทั้งสิ้น และการขยายสะพานออกไปทางจงไห่นั้น เพียงรื้อซุ้มประตู "จินอ๋าว" และ "อี้ว์ตง" ออกไปก็พอ

ภายหลังการสร้างขยายสะพานใหม่ สะพานจินอ๋าวอี้ว์ตงยังคงรักษารูปแบบเดิมเอาไว้ แต่ความกว้างของสะพานที่ขยายออกไปด้านใต้เปลี่ยนจาก 9 เมตรเป็น 34 เมตร ส่วนตัวสะพานยาวเป็น 220 เมตร ความโค้งชันของสะพานลดลงจาก 8% เหลือเป็น 2% โดยมีความกว้างของพื้นผิวถนนสำหรับให้รถราแล่นสัญจรไปมาเท่ากับ 27 เมตร ที่เหลือเป็นพื้นที่สำหรับทางเท้าสองข้างทาง กว้างข้างละ 3.5 เมตร และใช้ก้อนอิฐอุดปิดช่องสะพานทั้งแปด เหลือเพียงช่องใหญ่ตรงกลางให้น้ำไหลทะลุถึงกันได้ และเพื่อความปลอดภัยก็ได้เปลี่ยนจากราวสะพานหินเป็นราวเหล็กสูงแทนในปี 1972

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

สวนสาธารณะเป๋ยไห่กงหยวน

ช่วงเดือนเมษายน - ตุลาคม เปิดให้บริการเวลา 6:00 น. - 21:00 น. (ปิดขายบัตรเวลา 20:30 น.) ค่าบัตรผ่านประตู 10 หยวนต่อคน (แบบรวมเข้าชมสถานที่ต่างๆ 20 หยวนต่อคน)

ช่วงเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม เปิดให้บริการเวลา 6:30 น. - 20:00 น. (ปิดขายบัตรเวลา 19:30 น.) ค่าบัตรผ่านประตู 5 หยวนต่อคน (แบบรวมเข้าชมสถานที่ต่างๆ 15 หยวนต่อคน)

ลิงค์เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:สะพานของปักกิ่ง (6)

http://thai.cri.cn/247/2012/10/09/121s202951.htm

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040