หนึ่งในเพลงดังประจำยุค 90 "สะพานของปักกิ่ง 北京的桥" บอกเล่าถึงความเด่นดังของสะพานในปักกิ่ง ทั้งที่มีมาเก่าแก่แต่โบราณและถูกสร้างขึ้นใหม่ เป็นสะพานทางด่วนต่างระดับที่ต่างทยอยผุดขึ้นมากมายรองรับการเติบโตของเมืองหลวงแห่งนี้
สะพานต่างระดับในปักกิ่งมีหลากแบบหลายสไตล์และมากมายนับไม่ถ้วน
ช่วยเสริมความงามให้กับปักกิ่งได้ไม่น้อย
สะพาน "ซานหยวนเฉียว" สร้างสำเร็จในปี 1984 มีรูปลักษณ์แบบใบโคลเวอร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง เป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางและบรรจบกันของเส้นทางถนนวงแหวนรอบที่ 3 ด้านเหนือกับตะวันออก ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ตัวสะพาน 5ทางยกระดับ และ 7ทางเชื่อม ตัวสะพานหลักคลอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 260,000 ตร.ม. ความยาวสะพานทั้งสิ้น 4.8 กิโลเมตร
ผลงานการก่อสร้างสะพานซานหยวนเฉียวที่ดูคล้ายผีเสื้อนี้ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน
งานก่อสร้างยอดเยี่ยมระดับประเทศ ประจำปี 1985
นับเป็นครั้งแรกของกรุงปักกิ่งที่ได้รับรางวัลสูงสุดด้านงานวิศวกรรมก่อสร้าง
ส่วนชื่อเรียกของสะพานซานหยวนเฉียว 三元桥ว่ากันว่าเนื่องจาก 3 ที่มาดังนี้ 1)เนื่องจากในบริเวณใกล้ๆ นั้นมีศาลาวัดเก่าหลังหนึ่ง นามว่า "ซานหยวนอัน 三元庵" สร้างในสมัยราชวงศ์ชิง แต่ถูกทำลายในยุคปี 80 ของศตวรรษก่อน ซึ่งนามว่า "ซานหยวน" นั้นได้มาจากความเคารพนับถือ "ซานหยวนต้าตี้ 三元大帝 หรือสามเทพผู้ยิ่งใหญ่" ได้แก่ เทพแห่งท้องนภานำพาบันดาลสุข เทพแห่งผืนพสุธากลืนกลบความโชคร้าย และเทพแห่งท้องน้ำซัดดับเภทภัย
2) เนื่องจากทางด้านใต้ของสะพานเป็นที่ตั้งของโรงผลิตประปาหมายเลข 8 ซึ่งเป็นแหล่งจ่ายน้ำขนาดใหญ่ของปักกิ่ง ประกอบกับสะพานนี้ตั้งอยู่ในตำแหน่งถนนวงแหวนรอบที่ 3 และเป็นจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางสายหลักสามสาย จึงอาศัยคำว่า "ซาน 三" ที่แปลว่าสาม และ "หยวน 元" แทนคำว่า หยวน 源ที่หมายถึงแหล่งกำเนิด
3)เนื่องจากตอนใต้ของสะพานเป็นเขตชุมชนย่อย "ซานหยวนหลี่" ที่เกิดขึ้นในปี 1979 ซึ่งชื่อชุมชนถูกตั้งขึ้นในปี 1982 เนื่องจากด้านเหนือของเขตมีศาลา "ซานหยวนอัน" ด้านใต้มีโรงผลิตน้ำประปาหมายเลขแปด จึงดึงคำว่า "ซาน" และ "หยวน" จากทั้งสองที่มารวมกันตั้งเป็นชื่อเรียกชุมชน