เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:สะพานของปักกิ่ง (2) สะพานสือชีข่งเฉียว
  2012-09-07 16:14:51  cri

มาถึงชื่อสะพานลำดับต่อไปจาก สะพานจินอ๋าวอวี้ตง (金鳌玉蝀) ชื่อแรกที่ถูกเอ่ยถึงในเพลง "สะพานของปักกิ่ง 北京的桥" เพลงเก่ายอดฮิตยุคปี 90s มาต่อที่ลำดับที่สองนี้ ได้แก่ สะพาน "สือชีข่งเฉียว (十七孔桥)" ที่ได้ชื่อว่าเป็นสะพานหินที่ใหญ่สุดในพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน

สะพานหิน "สือชีข่งเฉียว" หรือสะพาน 17 ช่อง กว้าง 8 เมตร ยาว 150 เมตร

เป็นเส้นทางเพียงหนึ่งเดียวข้ามไปยังเกาะหนานหู ที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบคุนหมิงหู

ทะเลสาบคุนหมิงหูในพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน กินพื้นที่ถึง 3 ใน 4 ของสวน และกลางทะเลสาบมีเกาะชื่อว่า หนานหูเต่า ซึ่งสะพานที่ทอดเชื่อมระหว่างเกาะกลางทะเลสาบคุนหมิงหู กับฝั่งด้านตะวันออกที่ตั้งเก๋งคั่วหยูถิง (廓如亭) ก็คือ สะพานหินสือชีข่งเฉียวนั่นเอง สะพานถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยเฉียนหลงฮ่องเต้ (ครองราชย์ ค.ศ. 1736 – 1795) มีความประณีตงดงาม เหมือนดั่งจันทร์เสี้ยวดวงขาวสะอาดที่ทอดตัวตัดกับผืนน้ำเขียวมรกต ราวสะพานทำจากหินอ่อนสีขาว หัวเสาทั้ง 128 ต้นก็มีการแกะสลักสิงโตหินประดับไว้ด้วยท่วงท่าลีลาดูสง่างามและมีชีวิตชีวาถึง 544 ตัว

 

มีตำนานเล่าขานความเป็นมาในการก่อสร้างสะพานหินอ่อนสีขาวแห่งนี้ว่า ภายหลังฮ่องเต้เฉียนหลงมีรับสั่ง ก็ได้รวบรวมช่างก่อสร้างฝีมือดีมาลงมือ โดยหินอ่อนสีขาวเหล่านี้กะเทาะและขนย้ายมาจากถ้ำหินขนาดใหญ่เขตฝางซาน อยู่มาวันหนึ่งมีพ่อเฒ่าวัยประมาณเจ็ดแปดสิบปี ผมเผ้ารุงรัง หน้าตามอมแมม มีเครื่องมือช่างแบกใส่หลังเดินทางผ่านมา ปากก็ตะโกนร้องบอกว่า "ใครต้องการซื้อหินหลงเหมิน(หินประตูมังกร)" "หินหลงเหมินมีใครต้องการซื้อบ้าง" ช่างหินที่ถูกเกณฑ์มาก่อสร้างสะพานต่างเงยหน้าขึ้นมอง เห็นเป็นคนแปลกหน้าท่าทางพิกล แถมเนื้อตัวเลอะเทอะสกปรกมอมแมม คิดว่าคงเป็นคนสติไม่สมประกอบหลงผ่านมา ต่างก้มหน้าทำงานส่วนของตนกันต่อไป แกเดินตะโกนร้องขายวนไปมาอยู่ที่สะพานนานร่วม 3 วันก็ไม่มีใครสนใจ ในที่สุดพ่อเฒ่าจึงตัดสินใจไปจากที่ก่อสร้าง มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกถึงเขตลิ่วหลางจวง เห็นต้นไม้ใหญ่ก็ลงหยุดพักปักหลักไม่ไปต่ออีก ตกกลางคืนก็นอนหลับพักอยู่ใต้ต้นไม้นั้น พอรุ่งเช้าไก่ขันก็ลุกขึ้นมาหยิบอุปกรณ์เครื่องมือออกมา ลงมือตอกสกัดหินหลงเหมินก้อนนั้นเป็นอย่างนี้ทุกวันไม่หยุดหย่อน

สะพานสือชีข่งเฉียว มีทั้งหมด 17 ช่อง เนื่องจากเมื่อนับจาก

ปลายสะพานทั้งสองเข้ามาถึงช่องตรงกลางที่ใหญ่สุดจะนับได้เท่ากับ 9 พอดี

ซึ่งเลข 9 เป็นเลขมงคลที่โปรดปรานของฮ่องเต้

จนวันหนึ่งเกิดพายุฝนตกหนักลมกรรโชกพัดอย่างแรง ลุงหวังที่พักอาศัยอยู่ทางตะวันตกของหมู่บ้านผ่านมา เห็นพ่อเฒ่านั่งซุกตัวหลบฝนอยู่ใต้ต้นไม้ก็นึกสงสาร จึงเอ่ยปากให้ไปพักอยู่ที่บ้านตนด้วยกัน เมื่อไปถึงพ่อเฒ่าก็ยังคงวันๆ เอาแต่วุ่นอยู่กับการตอกสกัดหินไม่หยุดและพักกินอยู่ที่นั่นนานร่วมปี กระทั่งเช้าวันหนึ่งก็หยุดมือและบอกกับลุงหวังว่า "วันนี้ข้าจะขอลาไปแล้ว บุญคุณที่ให้ทั้งที่พักและอาหารชั่วชีวิตนี้จะไม่มีวันลืม ข้าเองก็ไม่มีอะไรพอจะตอบแทนได้ มีเพียงหินก้อนนี้ขอมอบให้ไว้ท่านแล้วกัน" ลุงหวังเมียงมองก้อนหินแล้วก็ตอบกลับไปว่า "ไม่ต้องไปพูดถึงตอบแทนอะไรกันหรอก ท่านทุ่มเทให้กับหินก้อนนี้มาตลอดทั้งปี ก็เอาติดไปด้วยเถิด ทิ้งไว้กับข้าก็ไม่มีประโยชน์อันใด" พ่อเฒ่าจึงว่า "หินก้อนนี้ของข้า จะว่าไปแล้ว แค่เงินร้อยตำลึงก็ยังไม่พอหรอกนะ" พูดจบก็ยกกล่องเครื่องมือแบกขึ้นหลังออกเดินไปตามทางที่มุ่งหน้าลงทางใต้

รูปปั้น "วัวทองแดง" บนฝั่งด้านขวาของทะเลสาบคุนหมิงหู สร้างขึ้นในรัชสมัย

เฉียนหลงฮ่องเต้ปีที่ 20 (ค.ศ.1755) เชื่อกันว่าคอยช่วยคุมระดับน้ำไม่ให้เอ่อท่วมฝั่งขึ้นมา

ขณะเดียวกันงานก่อสร้างสะพาน 17 ช่องในอี๋เหอหยวนใกล้สร้างเสร็จแล้ว และมีข่าวแว่วมาว่าเฉียนหลงฮ่องเต้เตรียมองค์จะเสด็จมา แต่แล้วงานที่ดูจะสำเร็จได้อย่างราบรื่นแล้วก็เกิดปัญหาอย่างไม่น่าจะเป็นขึ้น เมื่อหินก้อนสุดท้ายบนส่วนสูงสุดกลางสะพานจะตอกอย่างไรก็ไม่ได้ขนาดประกบไม่เข้าล็อคสักที ทำเอาผู้คุมงานก่อสร้างร้อนรนเป็นไฟ เมื่อมีคนเอ่ยถึงตาเฒ่าที่มาตะโกนร้องขายหินก่อนหน้านี้ จึงรีบส่งคนออกไปสืบข่าวตามหาตัวกันให้ทั่ว แล้วก็ได้ความว่าเคยพักอยู่ในเขตลิ่วหลางจวง ผู้คุมงานจึงรีบรุดมุ่งหน้าไปยังบ้านลุงหวังด้วยตนเอง พอไปถึงสายตาพลันเหลือบเห็นหินหลงเหมินที่ตั้งวางไว้ด้านล่างหน้าต่างก็รีบก้มลงไปวัดขนาด ปรากฏว่าได้ขนาดพอดิบพอดีไม่ขาดไม่เกินแม้สักนิด ราวกับว่าทำขึ้นมาเพื่อใช้กับสะพานนี้โดยเฉพาะ ผู้คุมงานดีใจยิ้มชื่นหน้าบานหุบปากไม่ลงรีบเอ่ยวาจากับลุงหวังทันทีว่า "นี่คงเป็นฝีมือเทพบันดาลไว้เป็นแน่ ท่านจะเรียกร้องเงินเท่าใดจงเอ่ยมาเถิด ข้ายินดีโดยไม่มีข้อแม้" ลุงหวังกล่าวว่า "ท่านไม่ต้องให้มากให้มายอะไรหรอก พ่อเฒ่าช่างหินมากินมาพักอยู่กับที่นี่นานแรมปี ท่านจ่ายค่าอาหารสำหรับหนึ่งปีนี้ให้แก่ข้าก็แล้วกัน" ผู้คุมงานได้ฟังก็ยื่นเงินจำนวนร้อยตำลึงให้ไว้และนำหินก้อนนั้นกลับมา

เมื่อกลับมาถึงที่ก่อสร้างก็จัดแจงวางหินลงตรงเข้าตำแหน่งได้อย่างพอดิบพอดีไม่มีเอียงไม่มีเบี้ยวแม้แต่น้อย ช่างหินช่างกระเบื้องทั้งหลายต่างโล่งอกไปตามๆ กันว่า ในที่สุดก็สามารถสร้างสะพานหินสำเร็จได้ด้วยดี ไม่อย่างนั้นหากฮ่องเต้ทรงเสด็จมาแล้วคงไม่มีโอกาสรอดชีวิตพ้นผิดกันไปได้แน่ และต่างสำนึกได้ไปตามๆ กันว่า เป็นเพราะ "เทพหลู่ปัน (鲁班)" จำแลงร่างลงมาบนโลกช่วยพวกตนเอาไว้

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

พระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน

ช่วงเดือนเมษายน - ตุลาคม เปิดให้บริการเวลา 6.30 น. – 18.00 น.

ค่าบัตรผ่านประตู 30 หยวน (แบบรวมเข้าชมสถานที่อื่นๆ 60 หยวน)

ช่วงเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม เปิดให้บริการเวลา 7.00 น. – 17.00 น.

ค่าบัตรผ่านประตู 20 หยวน (แบบรวมเข้าชมสถานที่อื่นๆ 50 หยวน)

หมายเหตุ

"หลู่ปัน" แซ่กงซู 公输 ชื่อปัน 班 เนื่องจากเป็นชาวแคว้นหลู่ จึงถูกเรียกขานติดปากสืบต่อกันมาว่า หลู่ปัน คาดว่าเกิดในยุคสมัยโจวจิ้งอ๋องปีที่ 13 หรือเมื่อราว 507 ปีก่อน ค.ศ. มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคสมัยชุนชิวตอนปลายถึงจั้นกั๋วตอนต้น เกิดในครอบครัวช่างที่สืบทอดวิชาความรู้ติดต่อกันมาหลายต่อหลายรุ่น จึงมีการสั่งสมทักษะและคุ้นเคยกับงานช่างมาตั้งแต่เกิดจนเติบใหญ่ เล่าขานกันว่าเขาเป็นช่างที่เก่งฉกาจ และยังเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์งานช่างมากมาย อาทิ กบไสไม้ สว่านเจาะ เลื่อย และโม่โต่วเครื่องมือลากเส้นของช่างจีนในสมัยโบราณ เป็นต้น

 

ลิงค์เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:สะพานของปักกิ่ง (6)

http://thai.cri.cn/247/2012/10/09/121s202951.htm

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040