และเนื่องเพราะสะพานซานหยวนเฉียวเป็นทางเชื่อมสู่ทางด่วนสนามบินกรุงปักกิ่งด้วย ในบริเวณใกล้เคียงจึงมีสถานีรถไฟใต้ดินชื่อว่า "สถานีซานหยวนเฉียว" ซึ่งเป็นจุดเชื่อมเพื่อเปลี่ยนเส้นทางระหว่างสาย 10 กับสายสนามบิน
ตำแหน่งที่ตั้งสะพานอันเจินเฉียว
และอีกหนึ่งสะพานยกระดับที่ถูกเอ่ยหนึ่งในบทเพลงและอยู่บนเส้นทางวงแหวนรอบที่ 3 ของปักกิ่งเช่นเดียวกัน คือ สะพานอันเจินเฉียว 安贞桥 ตั้งอยู่ตอนเหนือของถนนวงแหวน (รถวิ่งระหว่างทิศตะวันออกกับตะวันตก) เป็นจุดเชื่อมต่อกับถนนอันติ้งเหมินสายนอก และเป็นศูนย์รวมป้ายรถประจำทางหลายต่อหลายสาย แต่นอกจากสะพานสองชื่อนี้ ปักกิ่งยังประกอบด้วยสะพานต่างระดับมากมาย ว่ากันว่ามีกว่า 600 สะพานเลยทีเดียว คิดเป็น 70% ของจำนวนสะพานต่างระดับของทั้งประเทศ
ป้ายแสดงเส้นทางการจราจรใน "สะพานซีจื๋อเหมิน"
ที่ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทาง "เขาวงกต" สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนในกรุงปักกิ่ง
แม้ปักกิ่งจะมีสะพานต่างระดับเพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรไปมาอยู่มากมายนั้น แต่ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีการจราจรติดขัดสาหัสสากรรจ์ และสะพานที่ขึ้นชื่อว่าชวนมึนและทำเอาหลงได้ง่ายๆ เป็นที่สุดของปักกิ่งนั้น คือ สะพานซีจื๋อเหมิน 西直门 ซึ่งแต่เดิมเป็นสะพานต่างระดับ 3 ชั้นแห่งแรกของปักกิ่ง สร้างขึ้นในปี 1980 ช่วยลดแรงกดดันในการจราจรถนนวงแหวนรอบ 2 ตอนตะวันตกเฉียงเหนือได้อย่างดี แต่ต่อมาได้มีการสร้างใหม่ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1999 และเปิดให้เดินรถในเดือนกันยายน และกลายเป็นสะพานที่ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางที่วกวนที่สุดในโลก และสาเหตุที่สะพานแห่งนี้ทำให้สภาพการจราจรของกรุงปักกิ่งต้องขัดข้องนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการออกแบบที่ไม่สมดุลกัน คือ มีประสิทธิภาพรองรับรถยนต์ขาเข้าสูง แต่ในเส้นทางขาออกกลับต่ำ รวมถึงป้ายบอกเส้นทางไม่กระจ่างชัดเจนเท่าที่ควร ทำให้คนขับรถที่ไม่คุ้นเคยเส้นทางเกิดความสับสน ต้องหลงขับวนอยู่ในนั้น เลยเป็นที่ร่ำลือถึงความเป็นเส้นทางเขาวงกตและถูกยกให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ลำดับที่ 9
สะพานซีจื๋อเหมิน
และหากเส้นทางบนดินเป็นสิ่งมหัศจรรย์ลำดับที่ 9 เส้นทางใต้ดินของซีจื๋อเหมิน ก็นับได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ลำดับที่ 10 ด้วย เนื่องเพราะสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน "สถานีซีจื๋อเหมิน" เป็นจุดเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 2 กับสาย 13 ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินเปลี่ยนเส้นทางที่วกวนและยาวนาน เรียกว่าทำเอาเดินอ๊วก ได้ไม่แพ้กับทางรถวิ่งบนสะพานต่างระดับแต่อย่างใด จริงเท็จแค่ไหนไว้มาเที่ยวปักกิ่งแล้ว ลองสังเกตุความไม่ธรรมดาแห่งสะพานในปักกิ่งเหล่านี้ดูแล้วคุณจะรู้…
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府