ไปต่อกันที่ชื่อสะพานลำดับที่สามในเขตไห่เตี้ยน ด้านนอกประตูเมืองซีจื๋อเหมินไปทางเหนือ มีแม่น้ำสายยาวล้อมเมืองสายหนึ่งการสัญจรข้ามแม่น้ำต้องอาศัยสะพานหินสีขาว ที่ทอดตัวเชื่อมเหนือใต้ไว้ด้วยกัน นามว่า "สะพานเกาเหลียงเฉียว 高梁桥" หรือ "สะพานเกาเลี่ยงเฉียว高亮桥"
สะพาน "เกาเหลียงเฉียว" สะพานเก่าแก่สร้างขึ้นนับแต่ราชวงศ์หยวน
ใกล้บริเวณย่านซีจื๋อเหมินของปักกิ่ง
สะพานเกาเหลียงเฉียว เป็นสะพานเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในราชวงศ์หยวนรัชสมัยจื้อหยวนปีที่ 29 (ค.ศ.1292) แห่งฮ่องเต้หยวนซื่อจง เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำและเพื่อการขนส่งลำเลียงอาหารขึ้นมาจากตอนใต้ของเมืองหลวงต้าตู (กรุงปักกิ่งในปัจจุบัน) โดยมีรับสั่งให้ "กัวโส่วจิ้ง" เจ้าพนักงานผู้ควบคุมการชลประทานของเมือง จัดการนำน้ำจากแหล่งน้ำไป๋ฝูเฉวียนในเขตชางผิงและจากเขาอวี้เฉวียนซาน ภูเขาทางตะวันตกของปักกิ่ง มายังคูคลองเก็บน้ำที่ขุดขึ้นรอบเมืองต่อกันเป็นแม่น้ำสายยาว ซึ่งสะพานเกาเหลียงเฉียวถือเป็นทางผ่านสำคัญในการสัญจรทางน้ำ ไปชมความงามแห่งขุนเขาด้านตะวันตก "สวนป่าเขาซีซาน" สถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สวยงามบริเวณชานเมืองทางตะวันตกของปักกิ่งในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ซึ่งใต้สะพานมีประตูกั้นน้ำ ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสะพานมีอู่เรือ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือมีท่าเทียบเรือฉีหงถาง ที่พระนางซูสีไทเฮาทรงใช้เป็นที่ประทับพักผ่อนก่อนเปลี่ยนลงเรือไปยังพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน
ในอดีตนั้นเมื่อก้าวพ้นออกจากประตูเมืองข้ามสะพานไปอีกฝั่งจะพบกับบรรยากาศชนบท ที่มองไปเป็นผืนนาและบ้านพักของชาวบ้าน มีความงามแห่งท้องทุ่งรวงข้าวและบึงบัวมากมาย ด้วยทัศนียภาพที่งดงามและร่มรื่นโดยรอบของสะพานเกาเหลียงเฉียว ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของชาวเมืองปักกิ่งในอดีต ต่างเดินทางมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ "เหยียบสีเขียว" ในช่วงเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิเทศกาลตรุษจีน บ้างถือกรงนกมาเดินเล่นพักผ่อน บ้างนั่งรับลมเย็นอยู่ริมน้ำ บ้างล้อมวงรวมกลุ่มสมาคมชา บ้างนอนพักเล่นใต้ร่มเงาไม้ บ้างนั่งสงบนิ่งถือคันเบ็ดรอเวลาปลากินเหยื่อ และบางครั้งบางคราวก็จะมีพ่อค้านำของมาวางขายตามข้างทางริมแม่น้ำด้วย
สะพานเกาเหลียงเฉียวในปัจจุบันภายใต้การอนุรักษ์ของเขตไห่เตี้ยน
ที่มาของชื่อสะพาน "เกาเหลียงเฉียว" นั้น สืบเนื่องมาจากมีตำนานเล่าขานถึงการออกติดตาม ไปทวงน้ำคืนจากจ้าวมังกรของชายหนุ่มคนหนึ่งนามว่า "เกาเลี่ยง高亮" เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยราชวงศ์หมิงตอนต้นฮ่องเต้หมิงเฉิงจู่ได้ปรึกษากับขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลิวป๋อเวินในการที่ย้ายเมืองหลวงจากหนานจิงไปยังปักกิ่ง ที่ตอนนั้นมีสภาพรกร้างแห้งแล้งมาก หลิวป๋อเวินรับพระราชบัญชาและเดินทางไปหาจ้าวมังกรผู้คุมแหล่งน้ำของปักกิ่งให้จัดการย้ายน้ำไปยังที่อื่น มิฉะนั้นจะจัดการสร้างประตูคร่อมทับจ้าวมังกรเอาไว้ จ้าวมังกรจึงต้องจำนนยอมทำตามโดยดี ต่อเมื่อปักกิ่งเมืองหลวงแห่งใหม่ได้สร้างสำเร็จเรียบร้อยแล้ว จ้าวมังกรยังคงแค้นฝังใจในหลิวป๋อเวินไม่หาย จึงมาพร้อมกับเจ้าแม่มังกรสูบน้ำจากบ่อในเมืองไปจนเหือดแห้ง และช่วยกันเข็นรถขนน้ำหนีออกไปทางประตูเมืองซีจื๋อเหมิน
เมื่อเรื่องรายงานถึงหูหลิวป๋อเวิน ก็รีบส่งขุนศึกเกาเลี่ยงควบม้าออกติดตามไป เกาเลี่ยงไล่ตามพ้นประตูเมืองออกไปทางเหนือ พอตามไปทันก็แทงถุงน้ำที่จ้าวมังกรลอบขนหนีมา ฉับพลันเกิดเสียงดังกัมปนาทสนั่นหวั่นไหว เกาเลี่ยงจึงรีบควบม้าเผ่นทะยานกลับมา แต่เมื่อใกล้ถึงประตูเมืองแล้วเขากลับหันหลังไปดู เห็นคลื่นน้ำโหมกระหน่ำตามติดมาอย่างบ้าคลั่ง และซัดเอาเขาตกลงไปในแม่น้ำ หลังจากนั้นระดับน้ำก็ค่อยๆ ลดระดับและสงบลง เกิดเป็นแม่น้ำสายยาวไหลสู่ทิศตะวันออก ชาวเมืองต่างซาบซึ้งในบุญคุณของเกาเลี่ยงที่รักษาแหล่งน้ำของปักกิ่งเอาไว้ได้ และเพื่อเป็นการระลึกถึงจึงจัดการสร้างสะพานหินสีขาวขึ้นในบริเวณที่เขาถูกซัดจมหายไป และตั้งชื่อให้ว่า สะพานเกาเลี่ยงเฉียว และเพี้ยนมาเป็น เกาเหลียงเฉียว ในท้ายที่สุด
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府
สภาพความยิ่งใหญ่แห่งป้อมประตูเมืองซีจื๋อเหมินในอดีต
ประตูเมืองซีจื๋อเหมิน 西直门 เป็นหนึ่งในเก้าประตูเมืองสำคัญชั้นในตั้งอยู่ทางตะวันตกเยื้องไปทางเหนือของกรุงปักกิ่ง มีขนาดใหญ่เป็นรองจากประตูเจิ้งหยางเหมิน และถือเป็นประตูที่รถขนส่งน้ำจากเขาอวี้เฉวียนซานต้องผ่านเพื่อขนน้ำไปยังพระราชวังในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง จึงได้ชื่อเรียกอีกอย่างว่า "ประตูน้ำ"
สภาพย่านซีจื๋อเหมินในปัจจุบัน