ปักกิ่งเพลินเพลิน "หย่ง ชุน ดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการวรรณกรรมแปลเมืองไทย (1)"
  2012-10-18 17:12:58  cri

วันนี้ถือเป็นวันแรกของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่ประเทศไทย ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 18-28 ตค. 2555 จัดที่เก่าเวลาเดิมในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เปิดสิบโมงเช้าไปจนถึงสี่ทุ่ม หากเป็นแฟนพันธุ์แท้ของงานมหกรรมหนังสือแล้วละก็ไม่น่าจะพลาดงานลดแลกแจกแถมหนังสือใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ไม่ว่าหนังสือประเภทไหนสามารถหาอ่านได้จากงานนี้ ประจวบกับผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "ปานชีวา บุตราช" นักแปลมือทองที่แปลงานเขียนจีนเป็นไทยมาแล้ว 35 เล่มในช่วง 5 ปีนี้ และผลงานแปลเล่มที่ 35 กำลังจำหน่ายในงานมหกรรมฯนี้ก็คือ "Flower of War" หรือ 13 บุปผาแห่งนานกิง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่กำกับโดยจาง อี้ โหม่ว และได้รับการตอบรับดีทั่วโลก นอกจากเป็นนักแปลที่มีผลงานมากมายแล้ว เธอยังเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเอกภาษาจีน คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย จึงนำมาแบ่งปันและเป็นข้อมูลสำหรับผู้สนใจงานแปลรวมถึงนักอ่านงานจีนจะได้รู้จักกับนักแปลคนนี้มากยิ่งขึ้น

- เริ่มต้นอาชีพหนังสือและทำไมถึงมาแปลหนังสือ มีความเป็นมาอย่างไร

แต่เดิมทำอยู่บริษัทแปลเอกสาร รับแปลหมดเลย งานแบบนี้เราเรียกว่า "Localization" รับตั้งแต่งานเวบไซด์ งานเอกสารทั่วไป จิปาถะ จนถึงจุดอิ่มตัวว่า ทำไมต้องมาทำอะไรเหมือนเดิมทุกวัน ก็เลยลองไปสมัครเทสต์แปลของสำนักพิมพ์ปรากฏว่าผ่าน ก็เลยเริ่มต้นงานแปล ช่วงนั้นก็ประมาณปี 2005 เรียนจบแล้ว แต่ทางบริษัทเองก็มีโครงการที่ว่า ถ้านักแปลคนไหนต้องการเรียนต่อปริญญาโทด้านการแปล เขาก็ส่งเสริม ไหนๆ ก็เลือกมาทางด้านนี้แล้ว เลยตัดสินใจว่า เรียนไปด้วยทำงานแปลหนังสือไปด้วยเลยดีกว่า

ส่วนหนึ่งของผลงานแปลที่วางจำหน่าย

- ในช่วงห้าปีนี้สำหรับหนังสือที่แปลกว่า 30 เล่มนั้นมีมีกระบวนการในการคัดเลือกหนังสือที่ต้องการแปลอย่างไร

ต้องขออธิบายก่อนว่ามีอยู่ 2 แบบ คือ หนังสือที่สำนักพิมพ์เลือกมาให้แปล กับหนังสือที่นักแปลเลือกมาเองซึ่งมีบริบทที่น่าสนใจ คนไทยอ่านแล้วอิน ก็จะนำไปเสนอกับทางสำนักพิมพ์ ส่วนใหญ่แรกเริ่มเดิมทีตอนทำงานแรกๆ สำนักพิมพ์เป็นคนเลือกให้ มีกองบรรณาธิการที่อ่านงานอยู่แล้วก็ตัดสินใจว่า เรื่องนี้ขายได้นะ น่าสนุก น่าจะมีผลตอบรับค่อนข้างดีจากผู้อ่าน แล้วก็จะค่อยมาหานักแปลทีหลัง กับอีกแบบหนึ่ง พอทำงานไปสักระยะนึง พอไปเจอหนังสือที่สนุกก็จะเริ่มมีสิทธิ์เลือกได้มากขึ้นแล้วนำไปเสนอกับสำนักพิมพ์

- ช่วงหลังๆ ที่แปลหนังสือก็แสดงว่า มีส่วนร่วมในการคัดหนังสือกับกองบรรณาธิการแล้วใช่ไหม

ใช่ค่ะ ส่วนใหญ่จะเลือกเองก่อนว่าเป็นแนวนี้ แนวที่ชอบก็จะรับแปล

- แปลจากงานจีนเป็นไทยอย่างเดียวไหม หรือมีภาษาอื่นด้วย

ก็มีแปลจากจีนเป็นไทยด้วย แล้วก็อังกฤษเป็นไทยด้วย แต่ส่วนใหญ่งานจีนจะเยอะกว่า

- ถนัดแปลงานแนวอะไรบ้าง

แนวลึกลับสอบสวน แนวประเภทมีศพมีเลือด จะชอบมาก(หัวเราะ) ถ้าเป็นแนวเด็กไม่ค่อยถนัด แล้วก็แนววิทยาศาสตร์นี่ก็ยิ่งไม่ถนัดเท่าไร

- ปกติใช้ชื่อในการแปลว่า "ปานชีวา บุตราช" หรือมีนามปากกาไหม

มีค่ะ ถ้าเป็นแนวสารคดีจะใช้ชื่อจริงเลยค่ะ แต่ถ้าเป็นงานประเภทนิยายหรือการ์ตูนทั่วไปก็จะใช้นามปากกาค่ะ ใช้ชื่อว่า "หย่ง ชุน" เป็นชื่อภาษาจีนของตัวเองอยู่แล้ว แล้วก็มีแปลร่วมกับนักแปลคนอื่นใช้ชื่อว่า "ซินปอ หย่งชุน" เป็นแพคเกจขายคู่อยู่ในตอนนี้

- ช่วยเล่าขั้นตอนการทำงานแปลให้ฟังคร่าวๆ ตั้งแต่เริ่มต้น ระหว่างแปลจนถึงหลังการแปลเป็นอย่างไรบ้าง

แรกเริ่มเลย สมมติสำนักพิมพ์เลือกหนังสือมาให้เรา ต้องอ่านก่อนขั้นต่ำ 5-7 รอบ อ่านจนเข้าใจว่า มันมีอะไรแอบแฝงอยู่ในระหว่างบรรทัดของเรื่องบ้าง ค่อยๆ มานั่งทำลิสความสัมพันธ์ว่าใครเป็นอะไรกับใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยายจีนที่มีระบบครอบครัวค่อนข้างซับซ้อน บางทีต้องมานั่งลิสเลยว่า คนนี้ตกลงแล้วเป็นพี่น้องจริงๆ หรือเป็นแค่ญาติ เป็นแค่ลูกพี่ลูกน้อง และบางครั้งโดยความสัมพันธ์ของตัวละครจากคำเรียกขานพวกนี้ค่อนข้างจะมีส่วนมากว่า จะเลือกใช้ภาษาแบบไหน อย่างเช่น นิยายย้อนยุค อาจจะต้องเลือกว่า ในบริบทนี้มันเป็นช่วงเวลาอะไร จำเป็นที่ว่า เราต้องใช้คำแบบไหนให้เข้ากับยุคสมัยของเรื่อง อย่างบางทีเจอคำศัพท์ที่ไม่ได้ใช้กันแล้วในปัจจุบัน ก็จำเป็นต้องหาข้อมูลพวกนี้ก่อน บางครั้งเป็นแค่เหตุการณ์เล็กๆที่แทรกเข้ามานิดเดียวในเรื่อง อาจต้องใช้เวลาหาข้อมูลเป็นวันๆ ถึงแม้จะเป็นจุดเล็กๆ ของเรื่องแต่เราต้องรับผิดชอบกับงานของคนอื่นด้วยแล้วก็ผู้อ่านเองก็เสียเงินมาซื้องานของเราอ่านแล้วด้วย

- หลังจากงานเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมอบไปกองบรรณาธิการแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ

ค่ะ พอทำเสร็จแล้ว ถ้าไม่ใช่งานที่รีบมากอาจจะพักไว้สักระยะนึงแล้วมาตรวจเองทีหลัง คอยเช็คว่ามีตรงไหนหลุดอีกบ้างอีกรอบ อย่างเช่น คำสรรพนามตอนแรกเรียกตัวเองว่า "ผม" อาจจะบางจุดที่เผลอเรียกตัวเองว่า "ฉัน" ออกไป กระบวนการตรงนี้คล้ายกับการทบทวนงาน เพราะบางครั้งหากเราทำงานต่อเนื่องมากๆ เป็นจุดที่เราพลาดออกไป มองไม่เห็น เหมือนกับปริ้นต์อะไรมาสักแผ่นนึงแล้วดูเลยก็จะเห็นตรงนี้ก็ดี ตรงนี้ก็ผ่าน จริงๆ ควรวางไว้ให้ตัวเองลืมไปก่อนแล้วกลับมาอ่านอีกรอบ หลังจากนั้นจึงส่งงานแต่ถ้าสำนักพิมพ์ไม่รีบมาก งานพอมีเวลาก็จะนำไฟนัล ดราฟท์ (Final Drat หมายถึง ฉบับร่างสุดท้ายก่อนพิมพ์จริง) มาดูกันอีกรอบสุดท้ายหน่อยละกัน ว่ามีคำผิดไหม บางครั้งซับอีดิเตอร์(Sub-Editor หมายความถึง รองบรรณาธิการ) ก็จะเลือกคำอื่นซึ่งบางสำนักพิมพ์ก็จะแจ้งกลับมายังผู้แปลว่า ขอเปลี่ยนจะโอเคไหม ช่วยลองอ่านอีกครั้ง ซึ่งถ้าเราเห็นด้วยก็จะปล่อยผ่าน แต่บางครั้งก็จะบอกว่า ตรงนี้อ่านไม่เข้าใจค่ะ มันยังเป็นภาษาจีนอยู่เลย อ่านแล้วโครงสร้างไวยากรณ์นั้นคนไทยไม่เข้าใจ ทางเราก็จะขอเวลาเช็คกลับไปกลับมาหลายรอบหน่อย เพื่อจะได้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุด

- แล้วถ้าผู้แปลรู้สึกไม่อยากเปลี่ยนคำศัพท์นั้นๆ มีการพูดคุยอย่างไรบ้าง

ก็จะมีการชี้แจงกันและให้เหตุผลคงคำนี้ไว้ เช่น บางครั้งตัวละครเป็นผู้ชาย ทางสนพ.ขอให้ใช้สรรพนามว่า "ฉัน" ได้ไหม ทางเราก็ขอไม่ใช้ได้ไหมก็จะให้เหตุผลไปว่า หนึ่งตัวละครเป็นผู้ชาย สองเป็นคนบ้านนอก ในบางครั้งตัวละครเองถ้าพูดว่า "ฉัน" ก็จะรู้สึกว่าความเป็นคนเมืองเข้ามาทันทีเลย มันจะไม่สอดคล้องกับบริบทของเรื่อง คนอ่านก็จะไม่อิน แล้วทางสนพ.มีความเห็นว่าอย่างไร ส่วนใหญ่ที่ร่วมงานกันมาก็จะมีการสอบถามชี้แจงแบบนี้ก่อน จะไม่มีที่ว่าฟันธงตัดออกไปเลยแล้วพอเรามาเห็นงานทีหลังก็จะตกใจว่า นี่มันไม่ใช่หนังสือของฉันนี่ แต่โชคดีที่ร่วมงานกับสำนักพิมพ์ที่เป็นมืออาชีพและน่ารัก

- หนังสือ 1 เล่มใช้เวลาการแปลนานแค่ไหน

ประมาณหนึ่งเดือนค่ะ สำหรับนิยายหนึ่งเล่ม แต่แล้วแต่ด้วย ความยากของตัวเนื้อหาจะเป็นยังไง อย่างเช่น ถ้าเป็นนิยายรักวัยรุ่นประมาณสามสัปดาห์สำหรับการแปล สองสัปดาห์สำหรับการตรวจ

- มีการแบ่งเวลาในการทำงานแปลอย่างไร จากงานประจำทั้งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและทำธุรกิจทางบ้าน ในหนึ่งวันแบ่งเวลาการทำงานอย่างไร

เมื่อก่อนทำงานแปลเป็นหลัก งานที่บ้านเป็นอาชีพเสริม แต่หลังจากเรียนต่อแล้วกลับไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเวลาก็ลดหายไปอย่างมาก อย่างเช่น แต่ก่อนหนังสือ 1 เล่มอาจใช้เวลาหนึ่งเดือนก็ขยับมาเป็นเกือบสามเดือน ก็จะมีเวลาทำงานช่วงกลางคืนเสียส่วนใหญ่ จริงๆ แล้วงานแปลกับงานสอนก็เกื้อหนุนกันอยู่ เพราะสอนวิชาการแปลด้วย ก็จะมีส่วนหนึ่งที่จะเอาไปสอนด้วยก็คือ ประสบการณ์ในการทำงานและวิธีแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในชีวิตทำงานจริง หรือว่า บางครั้งติดตรงนี้ในเรื่องของงานแปล เราจะไปหาข้อมูลจากไหน และจะบอกเด็กๆ ตลอดว่า งานแปลนั้นคนแปลไม่ได้รู้ทุกอย่าง แต่สิ่งที่คนแปลจะต้องรู้คือ สิ่งที่ไม่รู้เราต้องไปถามใครหรือหาข้อมูลจากไหนได้ อันนั้นสำคัญกว่า

- จากประสบการณ์การแปล การแปลระหว่างการแปลไทย-จีน กับจีน-ไทย มีข้อแตกต่างอย่างไร

ในฐานะคนไทยยังไงแปลไทยเป็นจีนก็ยาก ทุกวันนี้ที่ทำถ้าเป็นงานไทยเป็นจีน จะมีบัดดี้ทำงานด้วยจะไม่ทำคนเดียว และมีคนจีนช่วยเชคภาษาให้ตลอด เพราะบางครั้งภาษาที่เราใช้ออกไปจริงๆ ก็ไม่ใช่ภาษาแบบที่คนจีนเรียกว่ามันไม่ "กุยฟ่าน" มันไม่เป็นมาตรฐานอย่างที่คนจีนใช้กัน มันอาจจะเป็นภาษาหนังสือ แต่ไม่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เหมือนคนจีนเรียนภาษาไทยพูดกับเราว่า "รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รู้จักท่าน" คนไทยไม่มีใครพูดคำนี้ในชีวิตประจำวัน ไม่พูดเต็มเสียงมากนัก

ปานชีวาจะเล่าถึงผลงานเล่มประทับใจที่สุดและกระแสการอ่านงานจีนในไทยนั้นมีกระแสตอบรับมากน้อยแค่ไหน โปรดติดตามตอนจบในปักกิ่งเพลินเพลินสัปดาห์หน้า

สุชารัตน์ สถาพรอานนท์

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040