ปักกิ่งเพลินเพลิน "สุริยนุภาพ ลูกชายแห่งดวงตะวันทิเบตที่สัมผัสไม่ได้ด้วยตาแต่สัมผัสได้ด้วยหัวใจ"
  2012-09-13 16:42:01  cri

"นกนั้นสามารถบินได้แต่คนบินไม่ได้ แล้วทำไมคนทั่วไปไม่คิดว่าตัวเองพิการบ้างเพราะไม่สามารถบินได้เหมือนนก" ยิมยา ผู้จัดการโครงการเพื่อนผู้พิการทางสายตาของเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน วัย 26 ปี พูดพลางจับจ้องไปยังท้องฟ้าทั้งที่ตนเองมองไม่เห็น ผู้คนส่วนมากสามารถมองเห็นขณะที่เราอยู่ในโลกมืด จึงมองว่าเราผิดปกติและเป็นคนพิการ แต่ถ้าหากลองคิดทบทวนให้ลึกซึ้งอีกครั้งจะพบว่า จริงๆแล้วทุกๆคนก็มีความผิดปกติหรือพิการทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าจะแสดงออกมาในลักษณะไหน ดังนั้นเราจึงควรมาคิดอีกมุมว่า อะไรคือเหตุผลแท้จริงสำหรับการมีชีวิตอยู่อย่างดีที่สุดด้วยสิ่งที่เราเป็นและมีสำหรับทุกวัน ดีกว่ามัวติดขัดอยู่กับความพิการที่ไม่ต้องการ

"ยิมยา" เป็นภาษาทิเบต มีความหมายว่า "สุริยนุภาพ" ซึ่งก็เป็นชื่อที่มีความหมายมากกับชีวิตของเขาและบรรดาเด็กทิเบตที่เป็นผู้พิการทางสายตาในโครงการฯ เปรียบเสมือนแสงส่องสว่างนำพาโครงการฯ ด้วยความรัก มุ่งมั่นและศรัทธา ยิมยาเกิดที่เมืองกานเซ่ มณฑลเสฉวน เขาสูญเสียการมองเห็นตั้งแต่อายุได้ 3 เดือน และกำพร้าพ่อ ต่อมาแม่แต่งงานใหม่จึงส่งเขาและพี่สาวไปอยู่กับยาย จากนั้นเมื่ออายุ 13 ปี แม่ก็กลับมารับเขาไปที่เมืองลาซา เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน เพื่อหาทางรักษาให้กลับมามองเห็นอีกครั้ง ถึงแม้ว่า ขณะนั้นหมดหนทางรักษาแต่เขาก็รู้สึกเหมือนได้มองเห็นอีกครั้งจากหัวใจ เพราะว่าหมออาสาสมัครชาวอเมริกัน แนะนำแม่ให้พาเขาเข้าโรงเรียนสอนคนตาบอด เคยมีคนพูดไว้ว่า การศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ ซึ่งเขาก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เชื่อคำพูดนี้ และเชื่อว่ามันคือ "จุดเปลี่ยนของชีวิต" หลังจากที่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานและมีโอกาสได้เดินทางไปหลายประเทศเพื่อเข้ารับการฝึกอบรบพัฒนาศักยภาพและประชุมสำหรับผู้พิการทางสายตาอยู่บ่อยครั้ง

ยิมยากับโครงการเพื่อนผู้พิการทางสายตาและโรงเรียนสำหรับผู้พิการทางสายตา

กระทั่งเมื่อปี 1998 ยิมยาได้พบกับซาบรีย่าและพอล หนุ่มสาวชาวเยอรมันที่มีความสนใจในการทำโครงการด้านการศึกษาสำหรับผู้พิการทางสายตาให้กับชาวทิเบต จนได้ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนสำหรับผู้พิการทางสายตาขึ้นรวมทั้งโครงการฯในปัจจุบันด้วย ความตั้งใจหลักของโรงเรียนและโครงการฯ นี้คือ ต้องการสร้างความมั่นใจและทักษะชีวิตให้กับผู้พิการทางสายตาสามารถใช้ชีวิตได้เฉกเช่นกับคนทั่วไปในสังคม นอกจากจะสอนวิชาทั่วไปเหมือนโรงเรียนปกติแล้ว โรงเรียนนี้ยังจัดหลักสูตรวิชาชีพเฉพาะสำหรับผู้พิการทางสายตาเพื่อออกไปประกอบอาชีพและหาเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต เช่น การนวดแผนทิเบต งานฝีมือทอผ้าแบบทิเบตและการทำอาหาร รวมถึงได้สร้างการยอมรับและการมีส่วนร่วมจากสังคมโดยการนำหนุ่มสาวชาวทิเบตปกติมาสอนนักเรียนผู้พิการทางสายตาที่นี่ด้วย แต่อีกไม่นาน ซาบรีย่าและพอลจะย้ายไปก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพผู้พิการทางสายตาที่อินเดียแล้ว และคงเป็นยิมยาที่ต้องดูแลรับผิดชอบโรงเรียนแห่งนี้แทน แต่ทั้งคู่กลับไม่รู้สึกกังวลหรือเป็นห่วงแต่อย่างใด กลับมีแต่ความมั่นใจและเชื่อมั่นว่า ยิมยาจะสามารถดูแลที่นี่ได้แน่นอน สำหรับตัวเขาเองก็ยิ่งมีความมั่นใจมากขึ้นเช่นกันหลังจากจบหลักสูตรการบริหารจัดการอย่างเข้มข้น เป็นระยะเวลา 10 เดือนที่อินเดีย

กิจกรรมสัมผัสธรรมชาติของเด็กๆ ที่โรงเรียนสำหรับผู้พิการทางสายตา

หากมีพรวิเศษเพื่อให้มองเห็นได้อีกครั้ง เขาคงปฏิเสธที่จะรับพรนั้น เพราะว่าจะทำให้ชีวิตที่เป็นอยู่เปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้ชีวิตก็ปกติดีมีสุขและตระหนักได้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตไม่ได้อยู่ที่การมองเห็น แต่อยู่ที่การยอมรับกับสิ่งที่เป็นอยู่และทำให้มีความสุขทุกวัน รวมถึงเผื่อแผ่และใส่ใจคนรอบข้างด้วย เพราะจากการมีประสบการณ์และบทเรียนมากมาย จึงทำให้มีโอกาสเดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ต่างบ้านต่างเมืองอยู่บ่อยครั้ง และจะเดินทางด้วยตัวเองทุกครั้ง การเดินทางไปพบปะผู้คนมากมายทำให้เขาได้สัมผัสโลกกว้างขึ้นจากหัวใจ จากกลิ่นแปลกใหม่ของสถานที่ต่างๆ และจากเสียงที่ได้ยินผู้คนหลากหลายเชื้อชาติพูดคุยกัน และชีวิตของเขาได้สร้างจุดเปลี่ยนชีวิตให้กับผู้พิการทางสายตาด้วยกันเอง และนี่คือสิ่งที่เขารู้สึกเหมือนได้รับของขวัญทุกครั้งของการเดินทางสู่โลกกว้าง

ชีวิตประจำวันในที่ทำงานของยิมยา

เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ชาวทิเบตนั้นเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีความศรัทธาต่อศาสนาสูงมาก เชื่อในเรื่องกรรมว่าเป็นผลของการกระทำอย่างแรงกล้า ยิมยาเองก็เช่นกันที่ยึดถือต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าและนำมาใช้กับปัจจุบันขณะของตัวเองทุกวัน อีกทั้งชาวทิเบตเชื่อว่า ผู้พิการทางสายตานั้นเป็นพวกที่เคยทำกรรมหนักมาก่อนในอดีตชาติ แต่ยิมยาเห็นว่า เป็นความเชื่อที่ดีที่จะทำให้คนส่วนใหญ่นั้นเกรงกลัวและยับยั้งชั่งใจต่อการทำผิด เพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดมาเป็นคนมองไม่เห็น

คำสอนทางพุทธศาสนาของทิเบตระบุไว้ว่า "ทุกชีวิตเกิดมาเท่าเทียมกัน ทุกคนนั้นย่อมได้รับผลของการกระทำเหมือนกัน ถึงแม้อาจจะต่างกรรมต่างวาระ แต่เหนือสิ่งอื่นใดทุกคนมีสิทธิที่จะรู้สึกรับรู้ความสุขและความทุกข์เหมือนกัน" ซึ่งความสุขและความทุกข์นั้นไม่จำเป็นต้องรู้สึกและรับรู้ผ่านการมองเห็นเสมอไป เพราะทุกครั้งของการเกิดสุขและทุกข์ เรามักจะใช้หัวใจและสติเป็นตัวตัดสินนำพาชีวิต

สุชารัตน์ สถาพรอานนท์

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040