ช่วงนี้ผู้เขียนกำลังเตรียมตัวจัดกระเป๋ากลับไปพักร้อนที่เมืองไทยประมาณ 3 อาทิตย์ ระหว่างที่เปิดดูตู้เสื้อผ้าก็ตกใจกับเสื้อผ้าจำนวนมากมายมหาศาล หรือ เรียกง่ายๆ ว่า "เกินความจำเป็น" โดยปกติหากอยู่ที่เมืองไทยก็จะคัดเสื้อผ้า กระเป๋าและรองเท้าที่ไม่ใช้แล้วและยังอยู่ในสภาพดีนำไปบริจาคที่ตลาดนัดแบ่งปันซึ่งเป็นตลาดนัดขายของมือสองตามอาคารธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ปากซอยนานา ที่ผู้เขียนเจาะจงตลาดนัดแบ่งปันนี้เพราะว่าทางตลาดจะบริหารจัดการโดยกลุ่มอาสาสมัครจิตอาสาและนำรายได้ไปบริจาคและดำเนินโครงการจิตอาสาต่อไป
หลังจากหาข้อมูลการรับบริจาคเสื้อผ้าเก่าในปักกิ่งก็พบกับโครงการคล้ายๆ กับตลาดแบ่งปันแต่จะแตกต่างตรงที่เป็นร้านจำหน่ายเสื้อผ้ามือสองเพื่อผู้มีรายได้น้อยในกรงุปักกิ่ง และบริหารจัดการโดยสำนักงานจัดการบริหารการกุศลของกรุงปักกิ่ง วัตถุประสงค์ของร้านจำหน่ายเสื้อผ้ามือสองนั้นก็คือ ต้องการจำหน่ายเสื้อผ้าหรือสินค้าราคาถูกให้กับผู้มีรายได้น้อย และทางการเห็นว่า หากนำเสื้อผ้าหรือสิ่งของที่บริจาคมาจำหน่ายต่อในราคาถูก โดยนำรายได้มาหมุนเวียน บริหารจัดการร้านเสื้อผ้ามือสองนั้นถือว่าเป็นการทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนรูปแบบหนึ่ง และมีการรายงานบัญชีของร้านเป็นประจำทุกๆ 3 เดือนผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานบริหารกรุงปักกิ่ง นอกจากจะเพื่อความโปร่งใสแล้ว ยังทำให้ผู้บริจาครู้สึกสบายใจว่า ของบริจาคของตนนั้นเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย
ร้านเสื้อผ้ามือสอง สาขาแรกของกรุงปักกิ่ง
ปี 2006 "ร้านจำหน่ายเสื้อผ้ามือสอง" ได้เปิดนำร่องสาขาแรกที่บริเวณตงซินหูหุ่ยซึ่งเป็นย่านแรงงานอพยพอาศัยอยู่มากที่สุดของกรุงปักกิ่ง หลังจากนั้นได้ขยายเพิ่มเป็น 12 สาขาให้ครอบคลุมย่านที่มีแรงงานอพยพอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากตามวงแหวนที่ 5 และ 6 ทางเจ้าหน้าที่ที่ดูแลร้านจำหน่ายเสื้อผ้าและสินค้ามือสองให้เหตุผลว่า ในเมื่อกลุ่มเป้าหมายคือ แรงงานอพยพ ทางร้านจึงต้องเลือกทำเลที่ใกล้และสะดวกกับพวกเขาให้มากที่สุด นอกจากจะจำหน่ายเสื้อผ้ามือสองแล้ว ทางร้านยังเป็นที่รับบริจาคเสื้อผ้าอีกด้วย ปัจจุบันไม่ได้รับบริจาคเสื้อผ้าอย่างเดียว ยังมีข้าวของเครื่องใช้หลากหลายอย่างรอการคัดกรองคุณภาพเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เนื่องจากได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก ทางร้านจึงได้ร่วมกับสถานศึกษา 20 แห่งและห้างร้านเอกชนอีก 100 แห่ง เช่น บริษัทคาเธย์ ประกันชีวิต จำกัด บริษัทโทรคมนาคม ต้าถัง เป็นต้น ได้จัดสรรจุดรับบริจาคสิ่งของจากพนักงานและนักศึกษาเป็นประจำ แต่การบริจาคนั้นก็มีเงื่อนไขเพื่อให้ได้ของบริจาคที่มีคุณภาพไม่ใช่ที่ทิ้งขยะของใครบางคน โดยเงื่อนไขได้ระบุว่า เสื้อผ้าและสิ่งของที่บริจาคนั้นต้องทำความสะอาดมาแล้ว และทางร้านจะนำไปทำความสะอาดผ่านการฆ่าเชื้ออีกครั้งก่อนนำไปจัดจำหน่าย
ปัจจุบัน จีนมีร้านเสื้อผ้ามือสองถึง 8,000 สาขา สำหรับกรุงปักกิ่งเองก็มีแผนจะเพิ่มสาขาของร้านเสื้อผ้ามือสองให้ครอบคลุมทุกเขตของกรุงปักกิ่งเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของแรงงานอพยพและผู้มีรายได้น้อย ในขณะเดียวกันก็กำลังเผชิญกับข้อท้าทายในการบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและจัดการให้เป็นธุรกิจอย่างยั่งยืนที่สุด เท่าที่จะทำได้
อาจจะมีคำถามค้างในใจของหลายคนว่า ในเมื่อเป็นของบริจาคมา ทำไมไม่ให้ฟรีไปเลย คำตอบก็คือ ปริมาณข้าวของจำนวนมาก จนไม่สามารถจัดสรรปันส่วนให้เกิดความพอใจกับทุกฝ่ายได้ อีกทั้งคนรับเองก็ไม่ได้อยากแบมือรับของฟรีเสมอไป ในเมื่อมีรายรับถึงแม้จะไม่สูงมาก แต่ก็ยินดีที่จะจ่ายคืนบ้างเป็นการตอบแทน และการให้เปล่านั้นก็จะทำให้ผู้รับบางคนไม่เห็นคุณค่าของสิ่งของที่ได้มาฟรี รวมทั้งเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์หากไม่ได้อยู่ในสถานะที่ดูแลตัวเองไม่ได้
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์