ช่วงแรกของการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ ส่งผลกระทบถึงชาวบ้านจำนวนไม่น้อย มีชาวบ้านถูกเวรคืนที่กว่า 36 หลังคาเรือนและต้องย้ายหลุมฝังศพกว่า 29 หลุมออกไป เพื่อจะนำไปสร้างเป็นห้องจัดแสดงต่างๆ สำหรับพิพิธภัณฑ์ "มันเป็นสิ่งที่ประเทศสามารถลงทุนได้ง่ายที่สุดสำหรับการให้บริการด้านการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมกับประชาชน" ผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์ได้ให้ความคิดเห็นไว้ ดังนั้นสิบปีต่อมา จึงมีนักธุรกิจจีน นักวิชาการและข้าราชการระดับสูงได้สร้างพิพิธภัณฑ์เอกชนขึ้นที่กรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และเมืองไท่อัน มณฑลซานตง หลังจากปี 1906 กระทรวงศึกษาธิการของราชวงศ์ชิงได้เริ่มต้นเฝ้าติดตามการจัดการพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 9 กรกฏาคม ปี 1912 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลในขณะนั้นได้จัดตั้งสำนักงานเตรียมจัดการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์แห่งแรกขึ้น และเป็นแห่งแรกที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากทางการด้วย แต่ระหว่างปี 1914-1916 โครงการก่อสร้างต้องระงับชั่วคราวเนื่องจากเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบ และเดือนกรกฏาคม ปี 1918 พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติก็ได้ย้ายจากกั๋ว จือ เจี้ยน(สถาบันหลวง)มาตั้งขึ้นที่ประตู
เมอริเดียน บริเวณพระราชวังต้องห้าม
พิพิธภัณฑ์ได้เปิดให้บริการที่กรุงปักกิ่งในเดือนพฤศจิกายน ปี 1920 และได้เริ่มต้นงานภาคสนามด้านโบราณคดีด้วย โดยส่งนักโบราณคดีออกไปสำรวจในมณฑลเหอเป่ย เหอหนาน ซ่านซี ซานซี และภาคอื่นๆของประเทศ เพื่อให้ได้สิทธิในการครอบครองโบราณวัตถุต่างๆ จนถึงปี 1924 พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติได้ครอบครองโบราณวัตถุถึง 208,173 ชิ้น จาก 26 ประเภท และเปิดสู่สาธารณชนเข้าชมได้ในวันที่ 1 สิงหาคมในปีเดียวกันนั้นเอง
เดือนกรกฏาคม ปี 1936 รัฐบาลจีนตัดสินใจเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากมณฑลทางใต้ของจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายจากกองทัพญี่ปุ่นที่กำลังเข้ามารุกรานจีน ต่อมาในเดือนสิงหาคม ปี 1945 หลังจากจีนชนะสงครามต่อต้านการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์นี้จึงได้กลับมาเปิดอีกครั้งที่กรุงปักกิ่ง และเริ่มต้นดำเนินงานต่อเนื่องอีก 10 ปีหลังจากก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะนั้น พิพิธภัณฑ์นี้จึงประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์แห่งการปฏิวัติประชาชนจีน ตั้งอยู่ทางตะวันออกของจัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง และได้เปิดอย่างเป็นทางการในปี 1959 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบสิบปีแห่งการสถาปานาสาธารณรัฐประชาชนจีน หากพิจารณาแล้ว สถาปัตยกรรมและศิลปะจีนของพิพิธภัณฑ์นี้ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการออกแบบในยุคสังคมนิยมแบบเหมา เจ๋อ ตุง และได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากสหภาพโซเวียตด้วย
รูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลมาจากสหภาพโซเวียต
จนกระทั่งปี 2003 ทั้งสองพิพิธภัณฑ์จึงรวมกันและเปลี่ยนชื่อเป็น "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน" โครงสร้างที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี ประกอบกับงานสะสมที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ และเจ้าหน้าที่มีใจบริการชั้นเยี่ยมและได้รับฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี กลายเป็นใบประกาศเกียรติคุณอย่างดีของประเทศที่มีอารยธรรมมายาวนานกว่าห้าพันปี ที่นี่จึงเป็นเหมือนอนุสรณ์สถานแสดงถึงความรุ่งโรจน์และเป็นความภาคภูมิใจของชาติ
หลังจากเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็มีความคิดเห็นมากมายเกี่ยวกับประเด็นต่างๆของพิพิธภัณฑ์นี้ ไม่ว่าจะเป็น ในวันที่ 21 เมษายน ปี 2011 มีการย้ายรูปปั้นขงจื่อขนาด 9.5 เมตรจากด้านนอกเข้าไปด้านในตัวอาคาร เนื่องจากเกิดคำถามจากนักวิชาการมากมายว่า ลัทธิขงจื่อนั้นยังเป็นตัวแทนค่านิยมและทัศนคติของจีนยุคใหม่อีกหรือไม่ ต่อมาในเดือนมิถุนายนและเดือนกันยายนในปีเดียวกัน สังคมได้วิพากษ์วิจารณ์การจัดนิทรรศการแสดงงานออกแบบของยี่ห้อหรูหราระดับโลกอย่าง หลุยส์ วิคตองและบูลแกรี่
นิทรรศการแสดงงานออกแบบของหลุยส์ วิคตองที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม
ทางด้านผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานได้กล่าวว่า การจัดแสดงนิทรรศการจากต่างประเทศนั้นถือเป็นสิ่งที่คู่ขนานและสอดรับกับพันธกิจของการนำเสนอประวัติศาสตร์ ศิลปและวัฒนธรรมจีนนั้นเปิดสู่ภายนอกและในขณะเดียวกับก็ต้องทำหน้าที่แนะนำศิลปะและวัฒนธรรมจากภายนอกที่มีอารยะสู่สังคมจีนด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน จีนได้ประกาศให้บริการเข้าชมพิพิธภัณฑ์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ครอบคลุมพิพิธภัณฑ์กว่า 2,200 แห่งทั่วจีน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปถึงระดับมณฑล ทั้งของเอกชนและรัฐบาล รวมทั้งพิพิธภัณฑ์อีกกว่า 100 แห่งในกรุงปักกิ่งด้วย จะเห็นได้ว่า แต่ละประเทศจะมีความเจริญก้าวหน้าด้านศิลปวัฒนธรรมและให้การศึกษากับประชาชนมากน้อยเพียงใด สามารถนับได้จากจำนวนพิพิธภัณฑ์ในประเทศนั้นๆ และยิ่งทางการเปิดให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม ยิ่งทำให้เกิดโอกาสที่เปิดกว้างแก่ประชาชนทุกคนเข้าถึงแหล่งข้อมูล ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ ถือเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ สนใจและรู้จักรากเหง้าของตนเองอย่างลึกซึ้ง ซึ่งสามารถสร้างความภาคภูมิใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ทั้งประเทศ ถือเป็นการลดข้อขัดแย้งทางความคิดและเชื้อชาติทางอ้อมจากแหล่งที่มาที่มีหลักฐานและข้อมูลอ้างอิงชัดเจน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจใหักับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ สานต่อสังคมต้นแบบและสังคมแห่งการเรียนรู้ต่อไป
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์
* อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
ปักกิ่งเพลินเพลิน "เดินเล่นพิพิธภัณฑ์ในปักกิ่ง" http://thai.cri.cn/247/2011/07/28/242s188707.htm