เนื่องในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ เป็นวันที่เด็กจีนทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอคอยเพราะเป็นวันที่ผู้ใหญ่ใจดีและรัฐบาลได้เห็นความสำคัญของเด็กๆ ภายหลังจากการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในปี 1949 ทางสภาแห่งรัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเด็กจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันเด็กสากลของจีน โดยแรกเริ่มได้อนุญาติให้เป็นวันหยุดครึ่งวันสำหรับนักเรียนระดับประถมทั่วประเทศ แต่ต่อมาในปี 1956 ได้ประกาศให้หยุดเป็นเวลา 1 วันและถือเป็นวันหยุดราชการด้วย
บรรยากาศวันเด็กสากลของจีนในอดีต
ในอดีตที่ผ่านมา ทางโรงเรียนจะจัดกิจกรรมต่างๆ มากมายเพื่อให้เด็กได้มีส่วนร่วมและสนุกสนานอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น พาไปออกค่ายพักแรมหรือไปชมภาพยนตร์ และหากเป็นลูกหลานของผู้รับใช้ชาติก็จะได้ของขวัญเล็กๆน้อยๆ จากรัฐบาล อีกทั้งยังถือเอาวันนี้จัดพิธีแรกเข้าของยุวชนจีนทุกปีด้วย ยุวชนจีนหมายถึงเด็กอายุตั้งแต่ 6-14 ปีทั่วประเทศและจัดตั้งให้แต่ละโรงเรียนหรือชุมชนเป็นคนดูแลจัดการตามกฏขององค์กรยุวชนจีนโดยอยู่ภายใต้การดูแลของสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนซึ่งจะมีสมาชิกเป็นคนหนุ่มสาวตั้งแต่อายุ 14-28 ปี หลังจากนั้นจะเข้าเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์กลางของจีนในลำดับต่อไป
บรรยากาศวันเด็กสากลของจีนปี 2012
ทุกวันนี้ การจัดกิจกรรมฉลองวันเด็กสากลของจีนได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและพัฒนาการของประเทศที่เปิดสู่โลกภายนอกมากขึ้น รูปแบบของกิจกรรมต่างๆก็อาจจะแปลกตาออกไปสำหรับสายตาของคนรุ่นเก่า แต่อย่างไรก็ตาม หากทำให้เด็กๆ รู้สึกมีคุณค่าและได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น ท่ามกลางการเฉลิมฉลองวันเด็กสากลทั่วประเทศจีนเต็มไปด้วยความสนุกสนาน สีสันและของขวัญต่างๆ มากมาย ยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยในจีนที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมนี้ เด็กเหล่านี้เป็นเด็กที่สังคมส่วนใหญ่อาจจะหลงลืมและตกหล่นไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ ซึ่งนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น จนทำให้บางเมืองกำลังขาดแคลนคนวัยทำงานเหลือเพียงเด็กกำพร้าให้อยู่กับปู่ย่าตายายเพียงลำพัง ถือว่าเป็นปัญหาที่หนักอึ้งสำหรับบุคลลากรสายพัฒนาไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและภาคเอกชน อย่างที่เมืองยู่ชวน มณฑลเสฉวน อีกทั้งยังมีแรงงานเด็กอีกจำนวนมากและลูกหลานของแรงงานอพยพกว่า 58 ล้านคนที่ถูกทิ้งไว้กับญาติพี่น้องในชนบทก็ไม่สามารถร่วมฉลองกิจกรรมวันเด็กสากลของจีนได้เช่นเดียวกัน
กลุ่มเด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์
การเติมช่องว่างให้กับสังคมที่มีความแตกต่างกันนั้น คือ การสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างถ้วนหน้า เหมือนกับทางการเองก็ได้นำปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ มาประเมินและประมวลออกมาทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนระยะ 5 ปี(2011-2015) ฉบับที่ 12 ซึ่งได้เน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่า จะเดินหน้าสร้างความเป็นธรรมด้านการศึกษาอย่างจริงจัง ปฏิบัติตามหลักการในแผนปฏิรูปและพัฒนาการศึกษาให้ถึงที่สุด จากความพยายามที่ผ่านมาเป็นเวลา 25 ปี ได้บรรลุเป้าหมาย "การศึกษาภาคบังคับระยะ 9 ปีถ้วนหน้า" และ "เป้าหมายขจัดความไม่รู้หนังสือในกลุ่มวัยหนุ่มสาว" ทั่วประเทศ ช่วยให้ลูกหลานของแรงงานจากชนบทมีโอกาสเข้ารับการศึกษาภาคบังคับในเมือง เดินหน้า "โครงการปฏิบัติการ 3 ปีเพื่อการศึกษาก่อนวัยเรียน" ยกอัตราการเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลให้สูงขึ้น มุ่งส่งเสริมการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ยกระดับคุณภาพของครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ
ความพยายามนี้ของจีนจะออกดอกออกผลอย่างไร โปรดติดตามไปพร้อมกันว่า เมื่อผ่านการดำเนินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนไปอีกหนึ่งปีแล้ว วันเด็กสากลของจีนปีหน้า เด็กๆ จะมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะพร้อมกันทั่วประเทศหรือไม่
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์
*ภาพจาก http://www.xinhuanet.com/english/