ปักกิ่งเพลินเพลิน "สานต่อลมหายใจให้อาชีพดั้งเดิมของชาวจีน"
  2012-05-24 16:54:24  cri

กระแสลมแห่งการพัฒนาที่พัดโหมแรงดั่งพายุของจีนนั้น นำพาความเจริญก้าวหน้าครอบคลุมทั่วทุกแห่งหน รวมถึงเม็ดเงินที่มีมูลค่ามหาศาลมาเย้ายวนใจให้กับภาคเกษตรกรในชนบท คนหนุ่มสาวภาคเกษตรกรรมยอมละทิ้งจอบและเคียวเกี่ยวข้าว มุ่งหน้าเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เดินยิ้มแย้มตอกบัตรเข้างานตามโรงงานต่างๆในเมืองใหญ่อย่างสดใสและมีความหวังว่า "ชีวิตจะดีขึ้น" รวมทั้งความเป็นอยู่ของครอบครัวที่รออยู่เบื้องหลังในชนบทด้วย จากการสำรวจพบว่า บางหมู่บ้านตามชนบทมีแต่คนแก่และเด็กเท่านั้น

เมื่อไม่มีคนหนุ่มสาวละทิ้งทุ่งนาไปอยู่ตามเมืองใหญ่ ไม่เพียงทำให้แรงงานในภาคเกษตรกรรมจะลงลงแต่ยังผลให้บางอาชีพดั้งเดิมของชาวจีนในชนบทที่สำคัญยิ่งกำลังจะสูญหายไปจากหมู่บ้านด้วย นั่นก็คือ "อาชีพหมอหมู่บ้าน" คุณหมอชิว ตงชู่ อายุ 76 ปี หมอหมู่บ้านประจำเขตเมืองอู่อี้ชานของมณฑลฝูเจี้ยน เป็น 1 ใน 330 คุณหมอหมู่บ้านที่ออกไปให้บริการด้านสาธารณสุขกับหมู่บ้านชนบทห่างไกลที่ยังเข้าไม่ถึงการบริการด้านนี้ แต่ค่าตอบแทนที่ไม่สูงนัก รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ก็ต้องออกไปรอนแรมนอกสถานที่ตลอดเวลาก็ลำบาก และสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือยังไม่มีคนรุ่นใหม่มารับหน้าที่แทนคุณหมอชิวซึ่งอายุมากที่สุดในบรรดาหมอหมู่บ้านทั้งหมด

คุณหมอชิว(ด้านซ้าย) กำลังตรวจชีพจรคนไข้

"ผมอายุมากแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำงานได้อีกนานแค่ไหน แต่มันเป็นเรื่องยากมากที่จะหาคนรุ่นใหม่ที่เสียสละมาแทนที่" คุณหมอชิวกล่าว กิจวัตรของคุณหมอในทุกๆ วัน จะต้องลงพื้นที่พร้อมกล่องยาใบใหญ่คู่กายไปตรวจและให้บริการด้านสาธารณสุขกับชาวบ้านตามชนบทที่ห่างไกล และไม่มีสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลใดๆ ให้บริการ นอกจากนั้นยังต้องให้ความรู้เรื่องสุขภาพอนามัยต่างๆ กับชาวบ้านอีกด้วย

ถัดไปอีกเขตชนบท จะพบกับคุณหมอเผ็ง เป่าหลาน อายุ 59 ปี เป็นหมอหมู่บ้านผู้หญิงคนเดียวที่ดูแลชาวบ้านกว่า 2,100 คน คุณหมอเผ็งกำลังกังวลว่า หากปีหน้าเธอเกษียณแล้ว ชาวบ้านจะไม่มีหมอประจำหมู่บ้านอีกเลย เพราะไม่มีใครมาสมัครแทนเธอ

คุณหมอเผ็งให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยของแม่และเด็กกับชาวบ้าน

เพราะค่าตอบแทนของหมอหมู่บ้านได้รับแค่ปีละ 4,138 หยวน(ประมาณ 20,690 บาท) ทำให้คุณหมอบางคนก็ต้องหารายได้เสริมอย่างอื่นเพื่อทำให้ชีวิตมั่นคงมากขึ้น เช่น คุณหมอหัวซิงที่ต้องทำนาพร้อมกับต้องคอยฟังเสียงโทรศัพท์ไปด้วย หากเกิดกรณีฉุกเฉินในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะโทรมาหาคุณหมอหัวซิง และทุกครั้งคุณหมอจะยอมทิ้งนาข้าวไปช่วยเหลือคนไข้อย่างไม่มีข้อยกเว้น

คุณหมอหัวซิงกับนาข้าวที่เป็นรายได้เสริม

ทางการเองคงต้องพิจารณาและให้ความสำคัญกับคนเล็กๆ ที่เสียสละและยิ่งใหญ่กว่าคนบางคนในเมืองใหญ่ที่ได้รับค่าตอบแทนสูงแต่อาจจะทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ไม่ภูมิใจและตระหนักในหน้าที่บทบาทของตน คนเหล่านี้น่าจะลองคิดทบทวนว่า ทุกวันนี้เราได้ตอบแทนอะไรให้กับสังคม หรือได้ให้อะไรกับคนรอบข้างมากน้อยแค่ไหน เพราะทุกคนมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันอยู่ทั้งมองเห็นและไม่เห็น ใครจะรู้ว่าหนึ่งชาวบ้านในเขตชนบทนั้น อาจจะเป็นคนรู้จักหรือญาติของเขาก็ได้

ท่ามกลางกระแสลมแห่งการพัฒนา แต่มีผู้คนตามชนบทในที่ห่างไกลอีกจำนวนมากที่ยังห่างไกลจากลมนี้ จึงทำให้คนตัวเล็กๆ ที่เป็นเหมือนฟันเฟืองทำให้กงล้อหรือเครื่องจักรที่เรียกว่า "สังคม" ขับเคลื่อนต้องค่อยๆ หมดวาระและหยุดตัวลง บางชิ้นก็ไม่มีชิ้นใหม่มาทดแทน ต้องสูญหายไปในที่สุด หากเป็นเช่นนี้แล้วยังต้องมีอีกกี่ฟันเฟืองที่จะต้องหายไปตามกาลเวลา และจะทำอย่างไรให้เครื่องจักรหรือสังคมใหญ่รักษาและเห็นคุณค่าของหน่วยเล็กๆ เช่นนี้

สุชารัตน์ สถาพรอานนท์

*ข้อมูลและภาพอ้างอิง www.chinadaily.com.cn

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040