ปักกิ่งเพลินเพลิน "ถักทอร้อยเรียงชีวิตใหม่ด้วยฝีเข็ม"
  2012-06-28 17:29:47  cri

"ธุรกิจ เพื่อ สังคม" เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมจีน เพราะว่าเป็นการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้พ้นจากความยากจนบนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีสมอง สองมือในการสร้างสรรค์ธุรกิจเพื่อครอบครัวและชุมชน ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือแบบสมเพชเวทนาที่เห็นว่ายากจนแต่อย่างใด

"หยาน" ผู้ก่อตั้งศูนย์สร้างงานให้กับผู้หญิงชนเผ่าเชียงในเขตอำเภอปกครองตนเองชนเผ่าเชียงและชนเผ่าทิเบตอาป้าของมณฑลเสฉวน ที่ศูนย์ฯแห่งนี้มีการแบ่งเป็นส่วนของสำนักงาน ร้านค้า และนิทรรศการขนาดย่อมที่แสดงถึงวิถีชีวิตและสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อนหน้านี้ เธอไม่เคยได้ยินคำว่า "ธุรกิจเพื่อสังคม" มาก่อน คิดแต่เพียงว่าจะทำธุรกิจอย่างไรให้ตรงความต้องการของกลุ่มคนในสังคม และนำเอาแผนธุรกิจต่างๆ มาช่วยชุมชนได้กำไรบ้างจากการทำธุรกิจ แต่ความไม่รู้ของเธอยังเป็นที่ยอมรับได้เพราะว่าสิ่งที่เธอตั้งใจและทำอยู่นั้น เป็นหนึ่งในแนวทางที่นักพัฒนาเอกชนและนักวิจัยชุมชนได้วิจัยและวิเคราะห์แล้วว่า ธุรกิจเพื่อสังคมนั้นเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมมากกว่าดำเนินตามแนวทางการพัฒนาขององค์กรเอกชนหัวเก่า

หยานกับผลิตภัณฑ์ของทางศูนย์ฯ

ชีวิตของผู้ประกอบการทางสังคมก็ได้เริ่มขึ้นพร้อมๆ กับชนเผ่าเชียง ชนเผ่านี้ได้รับการขนานนามว่า "ผู้ที่อยู่เหนือเมฆ" ในปลายปี 2010 มีประชากรของชนเผ่าเชียงประมาณ 160,000 คน ที่ยังอาศัยอยู่บนหุบเขาที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2,000 เมตร บริเวณนี้อยู่ในเขตอำเภอปกครองตนเองชนเผ่าเชียงและชนเผ่าทิเบตอาป้าซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลเสฉวน และผู้หญิงชนเผ่าที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปมีทักษะและความเชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับการเย็บปักถักร้อยที่มีสีสันสวยงามและมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว

การก่อตั้งของศูนย์ฯ นี้ก่อตั้งเนื่องจาก เสฉวนประสบกับเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ในปี 2008 ได้สร้างความสูญเสียและเสียหายเป็นจำนวนมากกับผู้คน หยานจึงได้ริเริ่มก่อตั้งองค์กรอิสระไม่แสวงหาผลกำไรขึ้นโดยมีชื่อว่า "ศูนย์สร้างงานสำหรับผู้หญิงชนเผ่า"โดยมีการประสานงานกับมูลนิธิวันที่ก่อตั้งขึ้นโดยเจ็ท ลี นักแสดงที่มีชื่อเสียงระดับโลก การทำงานแบบประสานงานและเครือข่ายร่วมกับมูลนิธิวันได้ช่วยกันหาลูกค้าและการสั่งซื้อสินค้า ในเวลาเดียวกันก็จัดจ้างนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ต่อยอดสำหรับงานเย็บปักถักร้อยนี้ การดำเนินงานขั้นแรกๆ ของศูนย์ฯ เริ่มจากการขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋าใส่เงิน แต่ลูกค้าไม่ค่อยจะพอใจกับสินค้าเท่าไรเนื่องจากมีคุณภาพไม่ดี แต่พวกเขาซื้อเพราะต้องการช่วยเหลือและบริจาคให้กับผู้หญิงชนเผ่าเชียง

ผู้หญิงชนเผ่าเชียงกับเครื่องแต่งกายชนเผ่าที่มีลักษณ์เฉพาะและโดดเด่นในการปักลายผ้า

แต่ทางหยานเห็นว่า หากพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ก็สามารถเพิ่มมูลค่าและลูกค้าพอใจที่จะจ่ายเงินให้ได้สินค้าที่ดีนั่นคือการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนให้ชุมชน มากกว่าขายสินค้าเพื่อมองว่า เป็นการบริจาคเงินช่วยเหลือเท่านั้น เพราะการรับเงินช่วยเหลือคือหนทางไม่ยั่งยืนแต่การพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ออกมาดีและเป็นที่ยอมรับของตลาดนั้น จะเป็นสร้างทางรอดให้กับชุมชน และธุรกิจอย่างยั่งยืน ทางศูนย์ฯจึงตันสินใจงดรับเงินสนับสนุนและเงินบริจาค หันมามุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจให้อยู่รอดได้ด้วยตนเอง สร้างสรรค์ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยเป็นที่ต้องการของตลาด และออกหาลูกค้าเองโดยไม่รอลูกค้ามาเลือกสินค้าที่ศูนย์ฯเท่านั้น รวมทั้งในนำแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมไปนำเสนอกับบริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการจะสนับสนุนชุมชนโดยตรง และทางศูนย์ฯก็ประสบความสำเร็จ เพราะตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ทางบริษัทเลโนโว่ ซึ่งเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ใหญ่ที่สุดในโลก ได้สั่งซื้อสินค้าของทางศูนย์ฯ ปีละ 2 ล้านหยวน สินค้าที่ทางเลโนโว่สั่งซื้อนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทกระเป๋าใส่คอมพิวเตอร์พกพา และกล่องใส่ปากกาเพื่อเป็นที่ระลึกให้กับลูกค้าของเลโนโว่ และได้มีการผลิตสินค้าในลักษณะที่คล้ายกันส่งให้กับบริษัทใหญ่ๆ รวมทั้งโรงแรมห้าดาวต่างๆ ทั่วจีน

ไม่เพียงแต่จะทำให้ศูนย์ฯได้จดทะเบียนเป็นบริษัทที่ถูกต้องตามกฏหมายแล้ว ผู้หญิงชนเผ่าเชียงและธิเบตอาป้าเอง ก็มีงานทำเช่นกัน ซึ่งเป็นงานประจำที่สร้างรายได้ให้กับพวกเธอถึงเดือนละ 1,500-2,000 หยวน โดยที่ไม่ต้องออกไปทำงานในเมือง อีกทั้งยังได้สืบสานศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาของบรรพบุรุษอีกด้วย เพราะบางลายในการปักผ้านั้น ต้องเป็นผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ถึงจะสามารถประดิษฐ์ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าได้ ลายพวกนี้ก็ได้รับการถ่ายทอดสู่หญิงสาวในรุ่นถัดไปแล้วด้วย

งานปักลายผ้าลักษณ์เฉพาะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

ธุรกิจเพื่อสังคมนั้นแตกต่างกับธุรกิจที่หวังกำไรตรงที่เป้าหมายของคนได้รับผลกำไรนั้นต่างกัน ผู้ประกอบการทางสังคมเองก็เป็นคนเชื่อมต่อระหว่างผลกำไรกับคุณค่าของสังคมและชุมชน โดยที่ไม่ทำให้สังคมถูกทำลายและย่ำยี ตัวสินค้านั้นสื่อถืงอัตลักษณ์ ค่านิยม วิถีชีวิตโดยไม่ถูกกลืนหายไปพร้อมรูปแบบทันสมัยหรือกระแสความต้องการของสังคมหลัก กำไรที่ได้นั้นหาได้กลับคืนให้กับเจ้าของธุรกิจ หากแต่ย้อนกลับคืนสู่ชุมชน กลุ่มคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การได้รับโอกาสมีงานทำ และได้รายได้โดยไม่ต้องออกไปทำงานตามเมืองต่างๆ ได้ดูแลครอบครัวอย่างใกล้ชิด รายได้ที่ผู้หญิงชนเผ่าเชียงและทิเบตอาป้าได้รับนั้น ไม่ใช่แค่ตัวเงินที่นำไปเจือจุลให้กับครอบครัว หากแต่สิ่งที่เธอได้รับอย่างแท้จริงกลับเป็น การกลับคืนสู่สังคม ชุมชนที่ยอมรับในความสามารถในการทำงาน การหาเลี้ยงครอบครัว และความเท่าเทียมกันในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของชุมชน

สุชารัตน์ สถาพรอานนท์

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040