สองสัปดาห์ที่ผ่านมา หากเดินเล่นในตลาดหรือตามซุปเปอร์มาร์เก็ตในกรุงปักกิ่ง จะเห็นขนมบ๊ะจ่างวางขายเต็มไปหมด เป็นสัญญาณว่าใกล้ถึงเทศกาลตวนอู่หรือเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างแล้ว เทศกาลตวนอู่เป็นหนึ่งในสามเทศกาลใหญ่ของจีน นับจากเทศกาลตรุษจีน และเทศกาลไหว้พระจันทร์ นอกจากจะเรียกว่าเทศกาลตวนอู่แล้ว ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ อีก ดังนี้ เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง เทศกาลไหว้ขนมจ้าง เทศกาลตวนอู่เจี๋ย หรือ เทศกาลตวงโหงว ซึ่งจะตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินทางจันทรคติ สำหรับปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน มีตำนานมากมายเกี่ยวกับเทศกาลนี้ แต่ตำนานเกี่ยวกับความเป็นมาของเทศกาลตวนอู่ที่แพร่หลายมากที่สุดเห็นจะเป็นตำนานที่เล่ากันว่า เทศกาลตวนอู่เป็นเทศกาลเพื่อรำลึกถึงชวูหยวน กวีผู้รักชาติในสมัยโบราณของจีน ชวูหยวนเป็นชาวก๊กฉู่ในยุคศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล หลังจากปิตุภูมิถูกก๊กอื่นยึดครองไปแล้ว ชวูหยวนจึงกระโดดแม่น้ำมี่หลัวเจียงฆ่าตัวตายด้วยความแค้นเคือง ซึ่งวันนั้นตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ต่อมา พอถึงวันที่ 5 เดือน 5 ของทุกปี ประชาชนจะใช้ปล้องไผ่ใส่ข้าวสวยไว้ข้างใน แล้วโยนลงไปในแม่น้ำเพื่อให้ปลากิน พร้อมภาวนาขออย่าให้ปลากินศพของชวูหยวน หลังจากนั้นปล้องไผ่ที่ใส่ข้าวสวยก็ค่อยๆได้รับการพัฒนามาเป็นขนมบ๊ะจ่างในปัจจุบัน
ผู้สูงอายุชาวปักกิ่งมาช่วยกันห่อบ๊ะจ่าง รอบๆบริเวณทะเลสาบเป๋ยไห่ กรุงปักกิ่ง
การกินขนมบ๊ะจ่างเป็นประเพณีสำคัญที่สุดในเทศกาลตวนอู่ วิธีทำขนมบ๊ะจ่างคือ ใช้ใบอ้อหรือใบไผ่ห่อข้าวเหนียว แล้วใช้ด้ายมัดให้แน่นเป็นรูปกรวยหรือรูปหมอน เสร็จแล้วนำไปต้มหรือนึ่งให้สุก ก่อนเทศกาลตวนอู่จะมาถึง ทุกบ้านต้องทำขนมบ๊ะจ่าง พอถึงวันเทศกาลจะหิ้วขนมบ๊ะจ่างที่ทำเองไปเยี่ยมญาติมิตร รวมทั้งยังมีไข่เค็ม เหล้าสุงหวง ซึ่งแต่ละอย่างล้วนมาจากความเชื่อเกี่ยวกับการสะเดาะเคราะห์ทั้งนั้น นอกจากอาหารการกินแล้ว เมื่อถึงเทศกาลตวนอู่ ทุกบ้านต้องแขวนสมุนไพรสองชนิดไว้บนหน้าประตูบ้าน ด้านหนึ่งเพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล อีกด้านหนึ่งก็เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เนื่องจากในช่วงเวลาที่เพิ่งย่างเข้าฤดูร้อนนั้น มีฝนชุก อากาศชื้น เชื้อโรคจึงเกิดขึ้นง่าย การแขวนสมุนไพรสองชนิดนี้ไว้ที่หน้าประตูสามารถป้องกันโรคได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีประเพณีการใช้ด้ายห้าสีพันข้อมือของเด็ก เชื่อกันว่าเด็กจะได้มีอายุยืนยาวร้อยปี และจะเย็บกระเป๋าใบเล็กๆเป็นรูปเสือบ้าง รูปลูกน้ำเต้าบ้าง ข้างในใส่เครื่องหอม แขวนไว้ที่หน้าอกของเด็ก พร้อมเตรียมรองเท้ารูปหัวเสือ และใส่ผ้าเอี๊ยมที่ปักรูปเสือให้เด็กๆได้สวมใส่เพราะเชื่อว่าการทำเช่นนี้สามารถปกป้องเด็กให้พ้นจากโชคร้ายและความอัปมงคลได้
ชาวบ้านเมืองเหอเฟย์ มณฑลอันฮุย ร่วมการแข่งขันห่อบ๊ะจ่าง
ในพื้นที่ตอนกลางและปลายของลุ่มแม่น้ำแยงซี จะมีการแข่งเรือมังกรเป็นประเพณีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในเทศกาลตวนอู่ และประเพณีแข่งเรือมังกรนี้ก็เกี่ยวข้องกับชวูหยวนเช่นกัน เล่ากันว่า เมื่อประชาชนทราบว่าชวูหยวนกระโดดแม่น้ำแล้ว ต่างก็พากันพายเรือไปช่วยชีวิตเขาอย่างสุดความสามารถ ต่อมาจึงกลายเป็นประเพณีการแข่งเรือมังกรในเทศกาลตวนอู่ การแข่งเรือมังกรนี้จะจัดอย่างใหญ่โตมโหฬาร บางครั้งมีเรือเข้าร่วมถึง 50-60 ลำ เรือแต่ละลำจะประดับด้วยหัวมังกรในรูปทรงต่างๆที่มีสีสันสดใส มีผู้มาชมการแข่งขันเต็มสองฝั่งแม่น้ำ บรรยากาศคึกคักมาก
บรรยากาศการแข่งขันเรือมังกรที่มณฑลเจียงซี
ในปัจจุบัน เทศกาลตวนอู่ หรือเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างนั้นยังมีการสืบทอด สืนสานจากรุ่นสู่รุ่น หากมองเข้าไปในวิถีธรรมเนียมและประเพณีปฏิบัตินี้ จะเห็นถึงความชาญฉลาดและแยบยลของคนโบราณที่ต้องการให้การทำบ๊ะจ่างเป็นเหมือนสื่อกลางเพื่อเรียกลูกหลานกลับไปดูแลครอบครัว ได้ทำกิจกรรมร่วมกันอีกครั้งหลังจากได้ห่างหายไปจากเทศกาลตรุษจีน รวมทั้งใส่ใจในสุขภาพร่างกายของลูกหลานเมื่อฤดูกาลและอากาศเปลี่ยนแปลง ตามสวนสาธารณะในกรุงปักกิ่งยังเห็นการร่วมมือร่วมใจของผู้สูงอายุมานั่งล้อมวงทำบ๊ะจ่างเพื่อเตรียมตัวนำไปแจกครอบครัวและเพื่อนสนิทมิตรสหาย ผูกสัมพันธ์และสายใยให้ครอบครัวซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของสังคมให้ยังคงเหนียวแน่นและแข็งแรงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์และทุนนิยมที่โหมกระหน่ำสังคมจีนอย่างไม่มีทีท่าว่าจะอ่อนแรงหรือยุติลง
ผู้ปกครองพาลูกหลานมาอาบน้ำกลางแจ้งผสมใบวอร์มวูด ซึ่งชาวจีนเชื่อว่า จะปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์